เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 11. อุปชฌายวัตตกถา
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม1 คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม2แก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌาย์หรือพึงเปลี่ยนไปเป็น
โทษเบา” หรือว่าอุปัชฌาย์ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วย
อุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌาย์พึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้
สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องตัดเย็บ สัทธิวิหาริกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการขวน
ขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌาย์จะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้ม หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌาย์” เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อม
พลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงพากันจากไป
สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของ
ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้

เชิงอรรถ :
1 ทำกรรม หมายถึงลงโทษ
2 ตัชชนียกรรม คือการขู่,การปราม (วิ.ม. (แปล) 5/407-411/297-301)
นิยสกรรม คือการถอดยศ,การปลดออกจากตำแหน่ง (วิ.ม. (แปล) 5/412/301-302,423/308)
ปัพพาชนียกรรม คือการไล่ออกจากหมู่,การไล่ออกจากวัด (วิ.ม. (แปล) 5/413/302-303)
ปฏิสารณียกรรม คือการให้ระลึกความผิด (วิ.ม. (แปล) 5/414/303)
อุกเขปนียกรรม คือการกันออกจากหมู่,การยกออกจากหมู่(วิ.ม. (แปล) 5/415/303-304)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :249 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 12. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงปลงผมให้ภิกษุบางรูป
ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบาง
รูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบางรูปให้ทำ
การขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึงพาภิกษุบางรูปไปเป็น
ปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบางรูปให้นำ
บิณฑบาตไปถวาย
สัทธิวิหาริกไม่บอกลาอุปัชฌาย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออกไป
ต่างถิ่น1 ถ้าอุปัชฌาย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอุปัชฌาย์นั้น
จะหาย
ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวัตรในอุปัชฌาย์ทั้งหลายสำหรับพวกสัทธิวิหาริกทั้งหลาย
โดยที่สัทธิวิหาริกทั้งหลายต้องประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย

12. สัทธิวิหาริกวัตตกถา2
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติในสัทธิวิหาริก
[377] สมัยนั้น พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในสัทธิวิหาริกทั้งหลาย
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระอุปัชฌาย์ทั้งหลาย
จึงไม่ประพฤติชอบในสัทธิวิหาริกทั้งหลายเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า อุปัชฌาย์
ทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในสัทธิวิหาริกทั้งหลาย จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 ไปต่างถิ่น หมายถึงไปอยู่ที่อื่น (สารตฺถ.ฏีกา 3/83/290)
2 วิ.ม. (แปล) 4/67/88-92

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :250 }