เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 11. อุปชฌายวัตตกถา
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎี รก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความไม่ยินดี สัทธิวิหาริกพึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความรำคาญ สัทธิวิหาริกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความเห็นผิด สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องอาบัติหนัก1 ควรแก่ปริวาส สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อุปัชฌาย์”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอุปัชฌาย์เข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่มานัต2 สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อุปัชฌาย์”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่อัพภาน3 สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอุปัชฌาย์”

เชิงอรรถ :
1 อาบัติหนัก ในที่นี้หมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส
2 มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบการปฏิบัติในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส แปลว่า นับ หมายถึง
นับราตรี 6 ราตรี ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสเท่ากับวันที่ปกปิดก่อน
จึงจะขอมานัตได้ แต่ถ้าไม่ได้ปกปิดไว้ สามารถขอมานัตได้ แล้วประพฤติมานัต 6 ราตรี (กงฺขา.อ. 178)
3 อัพภาน เป็นชื่อวุฏฐานวิธีที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ภิกษุผู้ประพฤติมานัตครบ 6 ราตรีแล้ว ขออัพภานจาก
สงฆ์ 20 รูป เมื่อสงฆ์สวดอัพภานแล้ว ถือว่าภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสนั้นบริสุทธิ์ สมควรอยู่ร่วมกับ
ภิกษุสงฆ์ต่อไป (กงฺขา.อ. 178-179)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :248 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 11. อุปชฌายวัตตกถา
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม1 คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม2แก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌาย์หรือพึงเปลี่ยนไปเป็น
โทษเบา” หรือว่าอุปัชฌาย์ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วย
อุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌาย์พึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้
สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องตัดเย็บ สัทธิวิหาริกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการขวน
ขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌาย์จะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้ม หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌาย์” เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อม
พลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงพากันจากไป
สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของ
ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้

เชิงอรรถ :
1 ทำกรรม หมายถึงลงโทษ
2 ตัชชนียกรรม คือการขู่,การปราม (วิ.ม. (แปล) 5/407-411/297-301)
นิยสกรรม คือการถอดยศ,การปลดออกจากตำแหน่ง (วิ.ม. (แปล) 5/412/301-302,423/308)
ปัพพาชนียกรรม คือการไล่ออกจากหมู่,การไล่ออกจากวัด (วิ.ม. (แปล) 5/413/302-303)
ปฏิสารณียกรรม คือการให้ระลึกความผิด (วิ.ม. (แปล) 5/414/303)
อุกเขปนียกรรม คือการกันออกจากหมู่,การยกออกจากหมู่(วิ.ม. (แปล) 5/415/303-304)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :249 }