เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 11. อุปชฌายวัตตกถา
11. อุปัชฌายวัตตกถา1
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติในพระอุปัชฌาย์
[375] สมัยนั้น สัทธิวิหาริกทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในพระอุปัชฌาย์ บรรดา
ภิกษุผู้มักน้อยจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสัทธิวิหาริกทั้งหลายไม่ประพฤติ
ชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลายเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า สัทธิ-
วิหาริกทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนสัทธิวิหาริกทั้งหลาย
จึงไม่ประพฤติชอบต่อพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[376] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรในอุปัชฌาย์ทั้งหลายแก่
สัทธิวิหาริกทั้งหลาย โดยที่สัทธิวิหาริกทั้งหลายต้องประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงประพฤติโดยชอบในอุปัชฌาย์ วิธีประพฤติโดยชอบ
ในอุปัชฌาย์นั้นมีดังนี้
สัทธิวิหาริกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออุปัชฌาย์ฉันข้าวต้มเสร็จแล้ว
พึงถวายน้ำ รับภาชนะมา ถืออย่างระมัดระวัง อย่าให้ครูด2 ล้างแล้วเก็บงำไว้ เมื่อ
อุปัชฌาย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด

เชิงอรรถ :
1 วิ.ม. (แปล) 4/64-66/79-87
2 อย่าให้ครูดพื้น (วิ.อ. 3/66/36)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :244 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 11. อุปชฌายวัตตกถา
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวายประคด
เอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ
ถ้าอุปัชฌาย์หวังจะให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงนุ่งให้เรียบร้อยปกปิดได้มณฑล 31
คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ล้างบาตรถือไป เป็นปัจฉาสมณะ
ของอุปัชฌาย์ พึงเดินไม่ให้ห่างนัก ไม่ให้ชิดนัก พึงรับบาตรที่มีของบรรจุอยู่
เมื่ออุปัชฌาย์กำลังกล่าว ไม่พึงกล่าวสอดขึ้นในระหว่าง อุปัชฌาย์กล่าวถ้อยคำ
ใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย
เมื่ออุปัชฌาย์จะกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะ
พับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน 4 นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอุปัชฌาย์ต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออุปัชฌาย์ฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้
ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง เมื่อ
จะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง เอา
ชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร

เชิงอรรถ :
1 มณฑล 3 คือ ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์(ผ้าห่ม) ต้องห่มปิดหลุ่มคอ และทำชายจีวรทั้ง 2 ข้างให้เสมอกัน
ถ้าเป็นอันตรวาสก (ผ้านุ่ง)ต้องนุ่งปิดสะดือ แบะปิดเข่าทั้ง 2 ข้าง (ดู วินัยปิฎกมหาวิภังค์แปล 2/576-577/
650-651, และ วิ.อ. 2/576-577/447-448)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :245 }