เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 10. วัจจกุฎิวัตตกถา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถ่ายอุจจาระในวัจกุฎีตามลำดับพรรษา ภิกษุผู้นวกะทั้งหลาย
ถึงก่อนปวดอุจจาระก็ต้องรอ กลั้นอุจจาระจนเป็นลมสลบล้มลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุ
ทั้งหลายถ่ายอุจจาระในวัจกุฎีตามลำดับพรรษา ภิกษุผู้นวกะทั้งหลายถึงก่อน
ปวดอุจจาระ ก็ต้องรอ กลั้นอุจจาระจนเป็นลมสลบล้มลง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำการถ่ายอุจจาระตามลำดับพรรษา
รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายอุจจาระตามลำดับผู้
มาถึง”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าวัจกุฎีเร็วเกินไปบ้าง เวิกผ้าเข้าไปบ้าง ถอน
หายใจพลางถ่ายอุจจาระบ้าง เคี้ยวไม้ชำระฟันพลางถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายอุจจาระ
นอกรางอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะนอกรางปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายลงในรางปัสสาวะ
บ้าง ชำระด้วยไม้แข็งบ้าง ทิ้งไม้ชำระในช่องถ่ายอุจจาระบ้าง ออกมาเร็วเกินไปบ้าง
เวิกผ้าออกมาบ้าง ชำระมีเสียงดังโจ๊กโจ๊กบ้าง เหลือน้ำไว้ในกระบวยชำระบ้าง
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
จึงเข้าวัจกุฎีเร็วเกินไปบ้าง เวิกผ้าเข้าไปบ้าง ถอนหายใจพลางถ่ายอุจจาระบ้าง เคี้ยว
ไม้ชำระฟันพลางถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายอุจจาระนอกรางอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะ
นอกรางปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายลงในรางปัสสาวะบ้าง ชำระด้วยไม้แข็งบ้าง ทิ้งไม้
ชำระในช่องถ่ายอุจจาระบ้าง ออกมาเร็วเกินไปบ้าง เวิกผ้าออกมาบ้าง ชำระมีเสียง
ดังโจ๊กโจ๊กบ้าง เหลือน้ำไว้ในกระบอกชำระบ้างเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ฯลฯ
จริงหรือ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :242 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 10. วัจจกุฎิวัตตกถา
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ แสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า
[374] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรในวัจกุฎีแก่ภิกษุทั้งหลาย
โดยที่ภิกษุทั้งหลายต้องประพฤติชอบในวัจกุฎี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไปวัจกุฎีพึงยืนกระแอมข้างนอก แม้ภิกษุผู้นั่งอยู่ข้างในก็
ควรกระแอมรับ พึงพาดจีวรไว้บนราวจีวรหรือบนสายระเดียงแล้วไม่ต้องรีบเข้าวัจกุฎี
ไม่ต้องเข้าไปเร็วนัก ไม่พึงเวิกผ้าเข้าไป พึงยืนบนเขียงถ่ายอุจจาระแล้วค่อยเวิกผ้า
ไม่พึงถอนใจดังพลางถ่ายอุจจาระ ไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันพลางถ่ายอุจจาระ ไม่พึง
ถ่ายอุจจาระนอกรางอุจจาระ ไม่พึงถ่ายปัสสาวะนอกรางปัสสาวะ ไม่พึงบ้วนน้ำลาย
ลงในรางปัสสาวะ ไม่พึงชำระด้วยไม้เนื้อแข็ง ไม่พึงทิ้งไม้ชำระลงในช่องถ่าย อุจจาระ
พึงยืนบนเขียงถ่ายแล้วจึงปิดผ้า ไม่ควรออกมาเร็ว ไม่พึงเวิกผ้าออกมา พึงยืนบน
เขียงชำระแล้วจึงเวิกผ้า ไม่พึงชำระให้มีเสียงดังโจ๊กโจ๊ก ไม่พึงเหลือน้ำไว้ในกระบอกชำระ
พึงยืนบนเขียงชำระแล้วปิดผ้า
ถ้าภิกษุถ่ายไว้เลอะเทอะวัจกุฎี ต้องล้างให้สะอาด ถ้าตระกร้าใส่ไม้ชำระเต็ม
พึงนำไปทิ้ง ถ้าวัจกุฎีสกปรกพึงกวาด ถ้าชานภายนอกรกก็พึงกวาด บริเวณรก
ก็พึงกวาด ซุ้มประตูรกก็พึงกวาด ถ้าไม่มีน้ำในหม้อชำระ พึงตักน้ำมาไว้
ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวัตรในวัจกุฎีสำหรับภิกษุทั้งหลาย โดยที่ภิกษุทั้งหลาย
ต้องประพฤติชอบในวัจกุฎี


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :243 }