เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 1. อาคันตุกวัตตกถา
8. วัตตขันธกะ

1. อาคันตุกวัตตกถา
ว่าด้วยวัตรปฏิบัติของภิกษุผู้จรมา
[356] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะสวมรองเท้าเข้าสู่
อารามบ้าง กั้นร่มเข้าสู่อารามบ้าง คลุมศีรษะเข้าสู่อารามบ้าง พาดจีวรบนศีรษะเข้า
สู่อารามบ้าง ใช้น้ำดื่มล้างเท้าบ้าง ไม่ยอมไหว้ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษา
กว่าบ้าง ไม่ต้อนรับด้วยเสนาสนะบ้าง
ภิกษุอาคันตุกะรูปหนึ่ง ถอดลิ่มวิหารที่ไม่มีคนอยู่แล้วผลักบานประตูเข้าไปอย่าง
รวดเร็ว งูตกจากเบื้องบนลงมาที่คอของภิกษุนั้น ท่านตกใจกลัวร้องขึ้นสุดเสียง ภิกษุ
ทั้งหลายรีบเข้าไปถามภิกษุนั้นดังนี้ว่า “ท่าน ท่านร้องทำไม”
ภิกษุนั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
อาคันตุกะทั้งหลายจึงสวมรองเท้าเข้าสู่อารามบ้าง กั้นร่มเข้าสู่อารามบ้าง คลุมศีรษะเข้า
สู่อารามบ้าง พาดจีวรบนศีรษะเข้าสู่อารามบ้าง ใช้น้ำดื่มล้างเท้าบ้าง ไม่ยอมไหว้
ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษากว่าบ้าง ไม่ต้อนรับด้วยเสนาสนะบ้างเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุ
อาคันตุกะทั้งหลายสวมรองเท้าเข้าสู่อารามบ้าง กั้นร่มเข้าสู่อารามบ้าง คลุมศีรษะเข้า
สู่อารามบ้าง พาดจีวรบนศีรษะเข้าสู่อารามบ้าง ใช้น้ำดื่มล้างเท้าบ้าง ไม่ยอมไหว้ภิกษุ
ผู้อยู่ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษากว่าบ้าง ไม่ถามถึงเสนาสนะบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :222 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [8. วัตต ขันธกะ] 1. อาคันตุกวัตตกถา
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุอาคันตุกะ
ทั้งหลายจึงสวมรองเท้าเข้าสู่อารามบ้าง กั้นร่มเข้าสู่อารามบ้าง คลุมศีรษะเข้าสู่อาราม
บ้าง พาดจีวรบนศีรษะเข้าสู่อารามบ้าง ใช้น้ำดื่มล้างเท้าบ้าง ไม่ยอมไหว้ภิกษุผู้อยู่
ประจำในอาวาสผู้แก่พรรษากว่าบ้าง ไม่ถามถึงเสนาสนะบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ
ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[357] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติวัตรแก่ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย
โดยที่ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายจะต้องประพฤติชอบ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาคันตุกะคิดว่า “เราจะเข้าไปสู่อารามเดี๋ยวนี้” พึงถอด
รองเท้าเคาะแล้วถือไปอย่างระมัดระวัง ลดร่ม เปิดศีรษะ ลดจีวรบนศีรษะลงบนบ่า
ไม่ต้องรีบร้อนเข้าสู่อารามตามปกติ เมื่อเข้าสู่อารามก็พึงสังเกตว่า “ภิกษุผู้อยู่ประจำ
ในอาวาสทั้งหลายประชุมกันที่ไหน” พึงไปที่ที่ภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสประชุมกัน
ไม่ว่าจะเป็นโรงฉัน มณฑปหรือโคนไม้ แล้วเก็บบาตรไว้ ณ ที่สมควร เก็บจีวรไว้ ณ
ที่สมควร จองอาสนะที่เหมาะสมแล้วนั่ง ถามถึงน้ำดื่มน้ำใช้ว่า “อย่างไหนน้ำดื่ม
อย่างไหนน้ำใช้” ถ้าต้องการน้ำดื่มก็ตักมาดื่ม ถ้าต้องการน้ำใช้ก็ตักมาล้างเท้า เมื่อ
จะล้างเท้า ควรใช้มือข้างหนึ่งรดน้ำ มืออีกข้างหนึ่งล้างเท้า ไม่พึงใช้มือข้างที่รดน้ำล้าง
เท้า ถามถึงผ้าเช็ดรองเท้าแล้วเช็ดรองเท้า เมื่อจะเช็ดรองเท้า พึงใช้ผ้าแห้งเช็ดก่อน
ใช้ผ้าเปียกเช็ดทีหลัง พึงซักผ้าเช็ดรองเท้าบิดแล้วผึ่งไว้ ณ ที่สมควร
ถ้าภิกษุผู้อยู่ประจำในอาวาสแก่พรรษา พึงอภิวาท ถ้าเป็นพระนวกะ พึงให้
ท่านอภิวาท ถามถึงเสนาสนะว่า “ผมได้เสนาสนะแห่งไหน” ถามถึงเสนาสนะที่มีภิกษุ
หรือที่ไม่มีภิกษุอยู่ ถามถึงโคจรคามและอโคจรคาม ถามถึงตระกูลที่เป็นเสกขสมมติ1

เชิงอรรถ :
1 ตระกูลเสกขสมมติ คือ ตระกูลที่มีศรัทธามาก ให้ทานวัตถุมากจนหมดทุนทรัพย์ เพื่อไม่ให้ตระกูลเช่นนี้
เดือดร้อนจากการถวายสิ่งของแก่ภิกษุสงฆ์ หรือเพื่อไม่ให้ภิกษุสงฆ์รบกวนตระกูลเช่นนี้ สงฆ์จึงประกาศ
สมมติ(แต่งตั้ง)ตระกูลเช่นนี้ให้เป็น “เสกขสมมติ” (ดู วิ.อ.2/562/444)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :223 }