เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัต
พร้อมกับบริษัทจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า” จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระเทวทัตว่า “เทวทัต ทราบว่า เธอพร้อมกับ
บริษัทเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันจริงหรือ”
พระเทวทัตทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เราจะบัญญัติโภชนะที่คน 3 คน
พึงบริโภคในตระกูลทั้งหลายแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ 3 ประการ
คือ
1. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
2. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
3. เพื่ออนุเคราะห์ตระกูล
ด้วยหวังว่า ‘ภิกษุที่ปรารถนาชั่วอย่าอาศัยพรรคพวกทำสงฆ์ให้แตกกัน’ (ภิกษุ)
ฉันคณโภชนะ พึงปรับอาบัติตามธรรม”1
ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปหาพระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวี
บุตร พระสมุททัตตะ ถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นดังนี้ว่า “มาเถิด
ท่านทั้งหลาย พวกเราจะทำลายสงฆ์ ทำลายจักร2ของพระสมณโคดม”
เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้ พระโกกาลิกะได้กล่าวกับพระเทวทัตดังนี้ว่า
“ท่าน พระสมณโคดมมีฤทธานุภาพมาก พวกเราจะทำลายสงฆ์ ทำลายจักรของ
พระสมณโคดม ได้อย่างไร”

เชิงอรรถ :
1 พึงปรับอาบัติตามธรรม คือ พึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะ ตามความแห่งสิกขาบทที่ 2
แห่งโภชนวรรคที่ 4 (ดู วิ.มหา. (แปล) 2/209-217/370-376)
2 ทำลายสงฆ์ คือทำสงฆ์ให้แตกจากกัน
ทำลายจักร คือทำลายหลักคำสอน (วิ.อ. 2/410/108, วชิร.ฏีกา 343/680)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :198 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
พระเทวทัตกล่าวว่า “มาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจะเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม
แล้วทูลขอวัตถุ 5 ประการว่า ‘พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียร โดยประการต่าง ๆ วัตถุ 5 ประการเหล่านี้ก็เป็นไป เพื่อความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียร โดยประการต่าง ๆ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทาน วโรกาสดังนี้
1. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดเข้าบ้าน ภิกษุรูปนั้น
มีโทษ
2. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีกิจนิมนต์
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
3. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดยินดีผ้าคหบดี
ภิกษุรูปนั้นมีโทษ
4. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดอาศัยที่มุงที่บัง ภิกษุ
รูปนั้นมีโทษ
5. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดฉันปลา
และเนื้อ ภิกษุรูปนั้นมีโทษ”
พระสมณโคดมจะไม่ทรงอนุญาตวัตถุ 5 ประการนี้แน่ พวกเราจะใช้วัตถุ 5
ประการนี้ชักชวนให้ประชาชนเชื่อถือ” ท่านเหล่านั้นปรึกษากันว่า “พวกเราสามารถ
ที่จะใช้วัตถุ 5 ประการเหล่านั้นทำลายสงฆ์ ทำลายจักรของพระสมณโคดมได้ เพราะ
ยังมีพวกมนุษย์ที่เลื่อมใสในการปฏิบัติปอน ๆ”
ครั้งนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้น
แล้วได้ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี
พระภาคตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด
อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ วัตถุ 5

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :199 }