เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
มาทางนี้” ซุ่มบุรุษไว้ริมทางอีก 16 คนด้วยสั่งว่า “พวกท่านจงฆ่าคน 8 คนที่เดิน
มาทางนี้ แล้วมาทางนี้”

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถา
ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งนั้นถือดาบและโล่ห์สะพายธนู เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ยืนกลัว หวาดหวั่น สะดุ้ง ตกใจจนตัวแข็งทื่อไม่ห่างจาก
พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกับบุรุษนั้นผู้ยืนกลัว หวาดหวั่น สะดุ้ง ตกใจ
จนตัวแข็งทื่อว่า “มาเถิด ท่านอย่ากลัวเลย”
ลำดับนั้น บุรุษนั้นวางดาบและโล่ห์ ปลดธนูวางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วเข้าไป
หาพระผู้มีพระภาค แล้วซบศีรษะแทบพระยุคลบาท ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้กระทำความผิด เพราะความโง่เขลา
เบาปัญญา ที่มีจิตคิดประทุษร้าย คิดจะปลงพระชนม์ จึงเข้ามาที่นี้ ขอพระองค์โปรด
ประทานอภัยโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพื่อสำรวมต่อไปเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เอาเถิด การที่ท่านได้ทำความผิดเพราะความโง่เขลา
เบาปัญญา ที่มีจิตคิดประทุษร้ายคิดจะปลงพระชนม์จึงเข้ามาที่นี้ เพราะเหตุที่ท่าน
เห็นความผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรายอมรับ เพราะการที่บุคคล
เห็นความผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัย
ของพระอริยะ” จากนั้นทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
1. ทานกถา (เรื่องทาน)
2. สีลกถา (เรื่องศีล)
3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)1
5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)แก่บุรุษนั้น

เชิงอรรถ :
1 แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :188 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
เมื่อทรงทราบว่าบุรุษนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่บุรุษนั้น ณ
ที่นั้นแลว่า “สิ่งใด สิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็น
ธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้นบุรุษนั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่
ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ
ต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือ
ตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้
ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับบุรุษนั้นดังนี้ว่า “ท่านอย่าไปทางนั้น จงไป
ทางนี้” แล้วส่งเขาไปทางอื่น
ครั้งนั้น บุรุษอีก 2 คนนั้นปรึกษากันว่า “ทำไมหนอบุรุษคนหนึ่งนั้นจึงมาช้า”
แล้วเดินสวนทางไป ได้พบพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ ควงไม้แห่งหนึ่ง ครั้นแล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แลัวนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่เขาทั้งสอง ฯลฯ
ครั้งนั้น บุรุษ 2 คนนั้นเห็นธรรมแล้ว ฯลฯ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำของสอนพระ
ศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์
ไพเราะชัดเจนยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :189 }