เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 1. ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ เธอเห็นประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะไปใน
ป่าก็ดี จะไปที่ควงไม้ก็ดี จะไปในสุญญาคารก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ”
ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า “สมัยเมื่อข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระราชา ได้รับการ
อารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในวัง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกวัง
ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในเมือง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดี
ทั้งภายนอกเมือง ได้รับการอารักษาคุ้มครองอย่างดีทั้งในชนบท ได้รับการอารักขา
คุ้มครองอย่างดีทั้งนอกชนบท ข้าพระพุทธเจ้าถึงจะได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่าง
ดีเช่นนี้ ก็ยังกลัว ยังหวาดหวั่นอยู่ สะดุ้ง ตกใจ แต่เวลานี้ข้าพระพุทธเจ้าไม่ว่า
จะไปในป่าก็ดี จะไปที่ควงไม้ก็ดี จะไปในสุญญาคารก็ดีเพียงผู้เดียวก็ไม่กลัวหวาดหวั่น
ไม่สะดุ้งตกใจแต่อย่างใดเลย มีความโปร่งเบากายยิ่ง ครองชีวิตด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้
มีจิตอิสระ ดุจมฤค ข้าพระพุทธเจ้าเห็นประโยชน์อย่างนี้ ไม่ว่าจะไปในป่าก็ดี จะไป
ที่ควงไม้ก็ดี จะไปในสุญญาคารก็ดี ฯลฯ จึงมักจะเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ’ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้วจึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กำเริบภายในจิต
และล่วงพ้นความเป็นภพและอภพต่าง ๆ ได้แล้ว
ทวยเทพไม่สามารถมองเห็นผู้นั้น
ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่เศร้าโศก

เทวทัตตวัตถุ
ว่าด้วยเรื่องของพระเทวทัต
[333] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคมตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางกรุงโกสัมพี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงโกสัมพี ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ในกรุงโกสัมพีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :173 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 1. ปฐมภาณวาร
ครั้งนั้น พระเทวทัตหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจว่า “เรา
จะพึงยังใครหนอให้เลื่อมใส ซึ่งเมื่อเขาเลื่อมใสเราแล้ว ลาภสักการะเป็นอันมาก
พึงเกิดขึ้น” ลำดับนั้น พระเทวทัตได้มีความคิดดังนี้ว่า “อชาตสัตตุกุมารนี้ยังเป็น
หนุ่มจะมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป ถ้ากระไร เราพึงยังอชาตศัตรูกุมารนี้ให้เลื่อมใส
เมื่อเขาเลื่อมใสแล้ว ลาภสักการะเป็นอันมากจะเกิดขึ้น”
ลำดับนั้น พระเทวทัตเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรจาริกไปทางกรุงราชคฤห์
จนถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ครั้งนั้น พระเทวทัตได้แปลงเพศเนรมิตตนเป็นกุมาร
น้อยเอางูพันเอวปรากฏบนพระเพลา(ตัก)ของอชาตศัตรูกุมาร
ครั้งนั้น อชาตศัตรูกุมารทรงกลัว หวาดหวั่น สะดุ้ง ตกพระทัย พระเทวทัต
จึงได้ถามดังนี้ว่า “กุมาร ท่านกลัวฉันหรือ”
พระกุมารตรัสว่า “ใช่ เรากลัว ท่านเป็นใคร”
พระเทวทัตตอบว่า “ฉันคือพระเทวทัต”
พระกุมารตรัสว่า “ถ้าท่านเป็นพระคุณเจ้าเทวทัตก็กลับเป็นตามเพศเดิมเถิด”
ครั้งนั้น พระเทวทัตเปลี่ยนเพศกุมารน้อย(กลับเป็นภิกษุ) ทรงสังฆาฏิ บาตร
และจีวร ยืนอยู่ข้างหน้าพระกุมาร ลำดับนั้น พระกุมารเลื่อมใสยิ่งนักเพราะอิทธิ
ปาฏิหาริย์นี้ ได้เสด็จไปที่อุปัฏฐากทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า พร้อมด้วยรถ 500
คัน ได้นำภัตตาหาร 500 สำรับไปด้วย
ต่อมา พระเทวทัตถูกลาภสักการะและความสรรเสริญครอบงำ เกิดความต้อง
การดังนี้ว่า “เราจะปกครองภิกษุสงฆ์” พระเทวทัตจึงเสื่อมจากฤทธิ์พร้อมกับเกิด
ความคิดเช่นนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :174 }