เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 1. ปฐมภาณวาร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงโปรดให้อุบาลีผู้เป็นช่างกัลบกบวชก่อน แล้วให้
ศากยกุมารบวชภายหลัง ต่อมา ในระหว่างพรรษานั้นเอง ท่านพระภัททิยะได้บรรลุ
วิชชา 3 ท่าน พระอนุรุทธะได้บรรลุทิพยจักษุ ท่านพระอานนท์ได้บรรลุโสดาปัตติผล
พระเทวทัตได้ฤทธิ์ชั้นปุถุชน

เรื่องพระภัททิยะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ”1
[332] สมัยนั้น ท่านพระภัททิยะจะไปในป่าก็ดี จะไปที่ควงไม้ก็ดี จะไปใน
สุญญาคารก็ดี ย่อมเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ครั้งนั้น ภิกษุ
หลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วอภิวาทพระผู้มีพระภาค
นั่ง ณ ที่สมควร ภิกษุเหล่านั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระภัททิยะ ไม่ว่าจะไปในป่าก็ดี จะไปที่ควงไม้ก็ดี จะไปในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่ง
อุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ท่านพระภัททิยะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
แน่ ๆ หรือคงหวนระลึกถึงสุขในราชสมบัติครั้งก่อน ไม่ว่าจะไปในป่าก็ดี จะไปที่
ควงไม้ก็ดี จะไปในสุญญาคารก็ดี จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุรูปหนึ่งว่า “ภิกษุ เธอจงไปบอก
ภัททิยะว่าพระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ภิกษุนั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วเข้าไปหาท่านพระภัททิยะถึงที่อยู่ ครั้น
ถึงแล้วได้กล่าวกับท่านพระภัททิยะดังนี้ว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ท่านพระภัททิยะรับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสกับท่านพระภัททิยะผู้นั่งแล้ว ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “ภัททิยะ ทราบว่า เธอ
ไม่ว่าจะไปในป่าก็ดี จะไปที่ควงไม้ก็ดี จะไปในสุญญาคารก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า
“สุขหนอ สุขหนอ’ จริงหรือ”
ท่านพระภัททิยะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 ขุ.อุ. 25/20/206-208

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :172 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 1. ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ เธอเห็นประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะไปใน
ป่าก็ดี จะไปที่ควงไม้ก็ดี จะไปในสุญญาคารก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ”
ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า “สมัยเมื่อข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระราชา ได้รับการ
อารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในวัง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกวัง
ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในเมือง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดี
ทั้งภายนอกเมือง ได้รับการอารักษาคุ้มครองอย่างดีทั้งในชนบท ได้รับการอารักขา
คุ้มครองอย่างดีทั้งนอกชนบท ข้าพระพุทธเจ้าถึงจะได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่าง
ดีเช่นนี้ ก็ยังกลัว ยังหวาดหวั่นอยู่ สะดุ้ง ตกใจ แต่เวลานี้ข้าพระพุทธเจ้าไม่ว่า
จะไปในป่าก็ดี จะไปที่ควงไม้ก็ดี จะไปในสุญญาคารก็ดีเพียงผู้เดียวก็ไม่กลัวหวาดหวั่น
ไม่สะดุ้งตกใจแต่อย่างใดเลย มีความโปร่งเบากายยิ่ง ครองชีวิตด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้
มีจิตอิสระ ดุจมฤค ข้าพระพุทธเจ้าเห็นประโยชน์อย่างนี้ ไม่ว่าจะไปในป่าก็ดี จะไป
ที่ควงไม้ก็ดี จะไปในสุญญาคารก็ดี ฯลฯ จึงมักจะเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ’ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้วจึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กำเริบภายในจิต
และล่วงพ้นความเป็นภพและอภพต่าง ๆ ได้แล้ว
ทวยเทพไม่สามารถมองเห็นผู้นั้น
ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่เศร้าโศก

เทวทัตตวัตถุ
ว่าด้วยเรื่องของพระเทวทัต
[333] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคมตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางกรุงโกสัมพี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงโกสัมพี ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ในกรุงโกสัมพีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :173 }