เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 1. ปฐมภาณวาร
เจ้ามหานามศากยะตรัสว่า “ดีแล้วน้องอนุรุทธะ พี่จะสั่งสอนวิธีการครองเรือน
แก่เธอเพื่อจะได้ครองเรือนต่อไป อันดับแรก ผู้ครองเรือนต้องให้ไถนา ครั้นแล้วให้
หว่านข้าว ครั้นแล้วให้ไขน้ำเข้า ครั้นแล้วให้ระบายน้ำออก ครั้นแล้วให้ถอนหญ้า ครั้น
แล้วให้เกี่ยวข้าว ครั้นแล้วให้ขนข้าว ครั้นแล้วให้ตั้งลอม ครั้นแล้วให้นวด ครั้นแล้ว
ให้สางฟางออก ครั้นแล้วฝัดข้าวลีบออก ครั้นแล้วฝัดละอองออก ครั้นแล้วให้ขนเก็บ
ในฉาง ครั้นพอถึงฤดูฝนก็ต้องทำอย่างนี้ต่อเรื่อยไป”
เจ้าอนุรุทธศากยะทูลถามว่า “การงานไม่มีที่จบสิ้น ที่สุดของการทำงานไม่ปรากฏ
การงานจะสิ้นไปเมื่อไร ที่สุดของการงานจักปรากฏเมื่อไร เมื่อไรเล่าที่พวกเราจักว่าง
จากการงาน เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยกามคุณ 5 บำรุงบำเรออยู่”
เจ้ามหานามศากยะตรัสตอบว่า “น้องอนุรุทธะ การงานไม่มีที่จบสิ้น ที่สุดของ
การงานไม่ปรากฏ ในเมื่อการงานยังไม่จบสิ้น มารดาบิดา ปู่ย่า ตายายก็พากันตาย
จากไป”
เจ้าอนุรุทธศากยะทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าพี่จงเรียนรู้ถึงวิธีครองเรือนจะดีกว่า
หม่อมฉันจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
จากนั้น เจ้าอนุรุทธศากยะเข้าไปเฝ้าพระมารดาถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลพระมารดาดังนี้ว่า “เสด็จแม่ หม่อมฉันอยากจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เสด็จแม่โปรดอนุญาตให้หม่อมฉันออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด”
เมื่อเจ้าอนุรุทธศากยะกราบทูลอย่างนี้ พระมารดาตรัสตอบเจ้าอนุรุทธศากยะ
ดังนี้ว่า “ลูกอนุรุทธะ พวกเธอเป็นลูก 2 คน เป็นที่รักที่ชอบใจของแม่เหลือเกิน
ถึงพวกเธอจะตายไป แม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉนแม่จะยอมให้พวกเธอผู้
ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิตเล่า”
แม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 เจ้าอนุรุทธศากยะก็กราบทูลพระมารดาดังนี้ว่า “เสด็จแม่ หม่อม
ฉันอยากออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เสด็จแม่โปรดอนุญาตให้หม่อมฉันออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :168 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [7. สังฆเภท ขันธกะ] 1. ปฐมภาณวาร
เรื่องพระเจ้าภัททิยศากยะ
สมัยนั้น พระเจ้าภัททิยศากยะครองราชสมบัติของชาวศากยวงศ์ พระองค์ทรง
เป็นพระสหายของเจ้าอนุรุทธศากยะ
ครั้งนั้น พระมารดาของเจ้าอนุรุทธศากยะทรงดำริว่า “พระเจ้าภัททิยศากยะนี้
ครองราชสมบัติของชาวศากยวงศ์ ทรงเป็นพระสหายของลูกอนุรุทธะ พระองค์จะไม่
สามารถเสด็จออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิตแน่” จึงตรัสกับเจ้าอนุรุทธศากยะดังนี้
ว่า “ลุกอนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยศากยะจะเสด็จออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิตด้วย
ลูกก็จงบวชเถิด”
ต่อมา เจ้าอนุรุทธศากยะจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยศากยะถึงที่ประทับ ครั้น
ถึงแล้วได้ทูลพระเจ้าภัททิยศากยะดังนี้ว่า “เพื่อนรัก การบวชของเราเกี่ยวเนื่องกับ
ท่าน”
พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า “เพื่อนรัก การบวชของท่านจะเกี่ยวเนื่องกับเรา
หรือไม่เกี่ยวเนื่องกับเรา ก็ช่างเถิด เรากับท่าน ท่านจงบวชตามสบายเถิด”1
เจ้าอนุรุทธศากยะทูลว่า “มาเถิด เพื่อนรัก เราทั้ง 2 จะออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยกัน”
พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า “เพื่อนรัก เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย
ไม่ได้ เพื่อนบวชคนเดียวเถิด เรายินดีช่วยเหลือเรื่องที่อาจช่วยได้”
เจ้าอนุรุทธศากยะทูลว่า “พระมารดาของเรารับสั่งว่า ‘ลูกอนุรุทธะ ถ้าพระเจ้า
ภัททิยศากยะจะเสด็จออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิตด้วย ลูกก็จงบวชเถิด’ ก็เพื่อน
ได้กล่าววาจานี้ว่า ‘การบวชของท่านจะเกี่ยวเนื่องกับเรา หรือไม่เกี่ยวเนื่องกับเรา ก็
ช่างเถิด เรากับท่าน ท่านไปบวชตามสบายเถิด’ มาเถิด เพื่อนรัก เราทั้ง 2 จะ
ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตด้วยกัน”

เชิงอรรถ :
1 ด้วยความรักเพื่อน พระเจ้าภัททิยศากยะต้องการจะรับสั่งว่า “เราจะบวชกับท่าน” แต่ยังทรงห่วงราชสมบัติ
จึงรับสั่งได้เพียงว่า “อยํ ตยา : เรากับท่าน” แล้วรับสั่งไม่ออก (วิ.อ. 3/330/385)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :169 }