เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [6. เสนาสน ขันธกะ] 3. ตติยภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเท้าเปียกไม่พึงเหยียบเสนาสนะ
รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องห้ามภิกษุสวมรองเท้าเหยียบเสนาสนะ
สมัยนั้น ภิกษุสวมรองเท้าเหยียบเสนาสนะ เสนาสนะเสียหาย ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสวมรองเท้าเหยียบเสนาสนะ
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องห้ามภิกษุถ่มน้ำลายบนพื้นที่ทำบริกรรม
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถ่มน้ำลายบนพื้นที่ทำบริกรรม พื้นผิวเสียหาย ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถ่มน้ำลายบนพื้นที่ทำบริกรรม
รูปใดถ่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กระโถน”

เรื่องทรงอนุญาตผ้าพันเท้าเตียงและตั่ง
สมัยนั้น เท้าเตียงและตั่งครูดพื้นที่ทำบริกรรม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้าพัน”
สมัยนั้น ภิกษุพิงฝาที่ทำบริกรรม1 ความงดงามเสียไป ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงพิงฝาที่ทำบริกรรม รูปใดพิง
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตพนักพิง”

เชิงอรรถ :
1 ฝาที่ทำบริกรรม หมายถึงฝาสีขาว หรือฝาที่มีลวดลายจิตรกรรม (วิ.อ. 3/324/356)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :153 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [6. เสนาสน ขันธกะ] 3. ตติยภาณวาร
พนักพิงส่วนล่างครูดพื้น ส่วนบนครูดฝา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้าพันทั้งข้างล่างและ
ข้างบน”

เรื่องทรงอนุญาตให้ปูผ้านอน
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายล้างเท้าแล้วยำเกรงที่จะนอน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูผ้านอน”

สังฆภัตตาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตสังฆภัตเป็นต้น
[325] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองอาฬวีตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์ ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต ในกรุงราชคฤห์นั้น
สมัยนั้น กรุงราชคฤห์เกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนไม่สามารถจะจัดสังฆภัต
แต่ปรารถนาจัดอุทเทสภัต นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆภัต อุทเทสภัต
นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต”

ภัตตุทเทสกสมมติ
ว่าด้วยการแต่งตั้งพระภัตตุเทสก์
[326] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รับภัตตาหารอันประณีตไว้เพื่อตัวเอง
ให้ภัตตาหารเลวแก่ภิกษุทั้งหลาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :154 }