เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู 4 ตระกูลนี้
เพราะถ้าภิกษุนั้นแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู 4 ตระกูลนี้ ภิกษุนั้นจะไม่ถูกงูกัด
ถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู 4 ตระกูลนี้
เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน

วิธีแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงแผ่เมตตาอย่างนี้
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูวิรูปักษ์
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูเอราปถะ
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูฉัพยาบุตร
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ
เราขอมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์ที่ไม่มีเท้า
เราขอมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์สองเท้า
เราขอมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์สี่เท้า
เราขอมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์หลายเท้า
สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สองเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์หลายเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
ขอสรรพสัตว์ที่มีลมหายใจ
ขอสรรพสัตว์ที่ยังมีชีวิตทั้งมวล จงประสบกับความเจริญ
ความเลวร้ายอย่าได้มาแผ้วพานสัตว์ใด ๆ เลย
พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง ตะขาบ
แมงมุม ตุ๊กแก หนู มีคุณพอประมาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :15 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [5. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เราทำการรักษาแล้ว ทำการป้องกันแล้ว ขอหมู่สัตว์ผู้มีชีวิตจงหลีกไป เรานั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์“1

เรื่องภิกษุตัดองคชาต
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกความไม่ยินดีบีบคั้น ได้ตัดองคชาตของตน ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้น เมื่อสิ่งอื่นที่ควรตัด
มีอยู่ กลับไปตัดอีกสิ่งหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงตัดองคชาตของตน รูปใดตัด
ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

เรื่องบาตรไม้จันทน์
[252] สมัยนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์มีปุ่มแก่นจันทน์มีค่ามาก ครั้งนั้นแล
ท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ถ้ากระไร เราจะให้กลึงปุ่มไม้จันทน์
นี้เป็นบาตร ผงไม้จันทน์ที่เหลือจะเก็บไว้ใช้แล้วให้บาตรเป็นทาน”
ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้กลึงปุ่มไม้จันทน์นั้นเป็นบาตร ใส่สาแหรก
แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่โดยผูกต่อ ๆ กันขึ้นไปแล้วประกาศอย่างนี้ว่า “สมณะหรือพราหมณ์
รูปใดที่เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรที่เราให้แล้วนำไปเถิด”
ครั้งนั้น เจ้าลัทธิปูรณกัสสปะเข้าไปหาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว
ได้กล่าวกับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “คหบดี อาตมานี่แหละเป็นพระอรหันต์
และมีฤทธิ์ ท่านโปรดให้บาตรแก่อาตมาเถิด”
เศรษฐีตอบว่า “ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์ก็จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรที่เราให้
แล้วเองเถิด”

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ชา.(แปล) 27/105-106/92

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :16 }