เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [6. เสนาสน ขันธกะ] 3. ตติยภาณวาร
บรรดาภิกษุมักน้อยสันโดษ ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
อุปนันทศากยบุตรจึงหวงเสนาสนะไว้ถึง 2 แห่งเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทะว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอ
เพียงรูปเดียวหวงเสนาสนะไว้ 2 แห่งจริงหรือ”
พระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆะบุรุษ ไฉนเธอผู้เดียวจึงหวงเสนาสนะ
ไว้ถึง 2 แห่งเล่า โมฆบุรุษ เธอถือในที่นั้นแล้วสละในที่นี้ ถือในที่นี้แล้วสละในที่นั้น
โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้เธอก็จะคลาดจากเสนาสนะทั้ง 2 แห่ง โมฆบุรุษ การ
กระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ
ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปเดียวไม่พึงหวง
เสนาสนะไว้ 2 แห่ง รูปใดหวงไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องตรัสวันยกถา
[320] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงพรรณนา
คุณแห่งพระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณของท่านพระ
อุบาลีโดยประการต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรงพรรรนา
คุณแห่งพระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณของท่านพระ
อุบาลีโดยประการต่าง ๆ ขอให้พวกเรามาเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี
กันเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นจำนวนมากเป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มีพากันเล่า
เรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี ท่านพระอุบาลีก็ยืนสอนด้วยความเคารพ
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ฝ่ายภิกษุเถระทั้งหลายก็ยืนเรียนด้วยความเคารพธรรม
ด้วยเหตุนี้ ภิกษุเถระทั้งหลายก็เมื่อยล้า และท่านพระอุบาลีก็เมื่อยล้า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :138 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [6. เสนาสน ขันธกะ] 3. ตติยภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุนวกะผู้สอนนั่งบน
อาสนะเสมอกันหรือสูงกว่า(ภิกษุผู้เรียนที่เป็นเถระ)ได้ ด้วยความเคารพธรรม ให้ภิกษุ
ผู้เถระผู้เรียนนั่งบนอาสนะเสมอกันหรือต่ำกว่า(พระผู้สอนที่เป็นนวกะ)ได้ ด้วยความ
เคารพธรรม”
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากยืนรอคอยจะเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี
จนเมื่อยล้า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุมีอาสนะ1ระดับ
เดียวกันนั่งรวมกันได้”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ที่ชื่อว่าภิกษุมีอาสนะระดับเดียวกัน
ด้วยคุณสมบัติเท่าไร”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า
กันอ่อนกว่ากันระหว่าง 3 พรรษานั่งรวมกันได้”
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนหลายรูปมีอาสนะระดับเดียวกันนั่งบนเตียงเดียวกัน ทำให้
เตียงหัก นั่งบนตั่งเดียวกัน ทำให้ตั่งหัก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงละ 3 รูป ตั่งละ 3
รูป”
แม้ภิกษุ 3 รูปนั่งบนเตียงก็ทำให้เตียงหัก นั่งบนตั่งก็ทำให้ตั่งหัก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
1 อาสนะ ในที่นี้ มีความหมายใช้แทน พรรษา (ดู วิ.อ. 3/320/342)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :139 }