เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [6. เสนาสน ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านควรจะบอกก่อนมิใช่
หรือ พวกเราจะได้ซ่อมแซมวิหารหลังอื่น”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ตอบว่า “ท่านทั้งหลาย วิหารเป็นของสงฆ์มิใช่หรือ”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า “ใช่ ท่านทั้งหลาย วิหารเป็นของสงฆ์”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารเป็นของพวกเรา”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “วิหารใหญ่ พวกท่านก็อยู่ได้ พวกเราก็อยู่ได้”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารเป็นของพวกเรา”
แล้วโกรธ ไม่พอใจ จับคอฉุดลากออกไป
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เมื่อถูกพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ฉุดลากออกไปก็ร้องไห้
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านี้โกรธ
ไม่พอใจฉุดลากพวกกระผมออกจากวิหารของสงฆ์”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์จึงโกรธไม่พอใจ ฉุดลากภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์เล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โกรธไม่พอใจ ฉุดลากภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโกรธไม่พอใจ ไม่พึงฉุดลาก
ภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์ รูปใดฉุดลาก พึงปรับอาบัติตามธรรม1 ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุถือเสนาสนะ”

เชิงอรรถ :
1 พึงปรับอาบัติตามธรรม หมายถึงพึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ตามความแห่งสิกขาบทที่ 7 แห่งภูตคามวรรค
(วิ.มหา. แปล 2/124-125/302-303)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :134 }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [6. เสนาสน ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
เสนาสนคาหาปกสมมติ
ว่าด้วยการแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงเสนาสนะ
[317] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ใครจะพึงจัดแจงให้ภิกษุถือ
เสนาสนะ” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติ
5 อย่างเป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือเสนาสนะ คือ
1. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ 2. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
3. ไม่ลำเอียงเพราะหลง 4. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
5. รู้จักเสนาสนะที่ให้ภิกษุถือและเสนาสนะที่ยังมิได้ให้ภิกษุถือ

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ ในเบื้องต้นพึงขอร้องภิกษุ ภิกษุผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วสงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุชื่อ
นี้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือเสนาสนะ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้
ถือเสนาสนะ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือ
เสนาสนะ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุชื่อนี้สงฆ์แต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือเสนาสนะแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องวิธีการให้ถือเสนาสนะเป็นต้น
[318] ครั้งนั้น ภิกษุเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือเสนาสนะทั้งหลายปรึกษากันดังนี้
ว่า “พวกเราจะให้ภิกษุถือเสนาสนะอย่างไรหนอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :135 }