เมนู

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [6. เสนาสน ขันธกะ] 2. ทุติยภาณวาร
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้
เกิดแก่ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว
หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้
แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์ ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้
หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคโปรดจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหาร เพื่อเจริญกุศลใน
วันพรุ่งนี้ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นท่านอนาถบิณฑิกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึง
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วทำประทักษิณกลับไป
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้ทราบข่าวว่า “ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี นิมนต์พระ
สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้”
[306] ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้กล่าวกับท่านอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า “คหบดี ทราบว่าท่านนิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อเจริญ
กุศลในวันพรุ่งนี้ ก็ท่านเป็นอาคันตุกะ ข้าพเจ้าจะให้ยืมทรัพย์ที่จะจับจ่ายสิ่งของเพื่อจัด
ทำภัตตาหาร ถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 7 หน้า :115 }