เมนู

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [1. กัมมขันธกะ] 4. ปฏิสารณียกรรม
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น สงฆ์จงให้ภิกษุอนุทูต
แก่ภิกษุสุธรรมเพื่อขอขมาจิตตคหบดี”

วิธีให้พระอนุทูตและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้พระอนุทูตอย่างนี้ คือ เบื้องต้นพึงให้ภิกษุยอมรับ
ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ภิกษุนี้เป็น
พระอนุทูตแก่ภิกษุสุธรรมเพื่อขอขมาจิตตคหบดี นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ให้ภิกษุเป็นอนุทูตแก่ภิกษุสุธรรม เพื่อ
ขอขมาจิตตคหบดี ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ภิกษุนี้เป็นอนุทูตแก่ภิกษุสุธรรม เพื่อ
ขอขมาจิตตคหบดี ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุนี้สงฆ์ให้เป็นอนุทูตแก่ภิกษุสุธรรมแล้วเพื่อขอขมาจิตตคหบดี สงฆ์เห็นด้วย
เพราะเหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

วิธีขอขมาของภิกษุสุธรรม
[42] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ภิกษุสุธรรมพึงไปเมืองมัจฉิกาสณฑ์กับ
พระอนุทูต แล้วขอขมาจิตตคหบดีว่า “จิตตคหบดี ท่านโปรดยกโทษ อาตมาจะ
ทำให้ท่านเลื่อมใส” ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้เขายกโทษให้ นั่นเป็นการดี ถ้ายังไม่ยอม
ยกโทษให้ พระอนุทูตพึงกล่าวว่า “จิตตคหบดี ขอท่านจงยกโทษแก่ภิกษุนี้ ภิกษุนี้
จะทำให้ท่านเลื่อมใส” ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้ เขายอมยกโทษให้ นั่นเป็นการดี ถ้ายัง
ไม่ยอมยกโทษให้ พระอนุทูตพึงกล่าวว่า “จิตตคหบดี ท่านจงยกโทษแก่ภิกษุนี้
อาตมาจะทำท่านให้เลื่อมใส” ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้เขายอมยกโทษให้ นั่นเป็นการดี
ถ้ายังไม่ยอมยกโทษให้ พระอนุทูตพึงกล่าวว่า “จิตตคหบดี ท่านจงยกโทษให้ตาม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :80 }


พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [1. กัมมขันธกะ] 4. ปฏิสารณียกรรม
คำของสงฆ์” ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้ เขายอมยกโทษให้ นั่นเป็นการดี ถ้ายังไม่ยอม
ยกโทษให้ พระอนุทูตพึงให้ภิกษุสุธรรม ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้นั่ง
กระโหย่ง ให้ประนมมือแล้วให้แสดงอาบัตินั้นไม่เลยเขตที่จิตตคหบดีจะมองเห็น
จะได้ยิน
ต่อมา ท่านภิกษุสุธรรมเดินทางไปเมืองมัจฉิกาสณฑ์กับพระอนุทูตแล้วขอ
ขมาจิตตคหบดี ท่านกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ เข้าไปหาภิกษุ
ทั้งหลายแล้วกล่าวอย่างนี้ “กระผมถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรมแล้ว กลับประพฤติชอบ
หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ กระผมจะปฏิบัติอย่างไร”
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น สงฆ์พึงระงับปฏิสารณีย
กรรมแก่ภิกษุสุธรรม”

นัปปฏิปัสสัมเภตัพพอัฏฐารสกะ
ว่าด้วยองค์ 18 ของภิกษุที่สงฆ์ไม่พึงระงับปฏิสารณียกรรม

หมวดที่ 1
[43] ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วย
องค์ 5 คือ
1. ให้อุปสมบท 2. ให้นิสัย
3. ใช้สามเณรอุปัฏฐาก 4. รับแต่งตั้งเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี
5. แม้ได้รับแต่งตั้งแล้วก็ยังสั่งสอนภิกษุณี
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5
เหล่านี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :81 }