เมนู

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [1. กัมมขันธกะ] 4. ปฏิสารณียกรรม
ปัพพาชนียกรรมสงฆ์ระงับแล้วแก่ภิกษุชื่อนี้ สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
ปัพพาชนียกรรมที่ 3 จบ

4. ปฏิสารณียกรรม
เรื่องพระสุธรรม
[33] สมัยนั้น ท่านพระสุธรรมเป็นพระนักก่อสร้าง รับภัตตาหารประจำใน
อาวาสของจิตตคหบดี เมืองมัจฉิกาสณฑ์ ทุกครั้งที่จิตตคหบดีต้องการนิมนต์สงฆ์
คณะ หรือบุคคล ถ้ายังไม่เรียนให้ท่านสุธรรมทราบ จะไม่นิมนต์
ต่อมา พระเถระหลายรูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิกะ ท่านพระมหากัปปินะ ท่านพระมหา
จุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอุบาลี ท่านพระอานนท์ และท่าน
พระราหุล เที่ยวจาริกไปแคว้นกาสีลุถึงเมืองมัจฉิกาสณฑ์

จิตตคหบดีต้อนรับพระอาคันตุกะ
จิตตคหบดีทราบว่า “พระเถระหลายรูปเดินทางมาถึงเมืองมัจฉิกาสณฑ์แล้ว”
ครั้งนั้น จิตตคหบดีเข้าไปหาพระเถระทั้งหลายที่สำนัก ไหว้แล้วนั่งลง ณ ที่สมควร
ท่านพระสารีบุตรได้ชี้แจงให้จิตตคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น จิตตคหบดีผู้ซึ่งพระสารีบุตรเถระชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
จึงกราบอาราธนาพระเถระว่า “ท่านผู้เจริญ ขอพระเถระทั้งหลาย โปรดรับอาคันตุก
ภัตของกระผม เพื่อเจริญกุศลในวันรุ่งขึ้นเถิด”
พระเถระรับคำนิมนต์โดยดุษณีภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :65 }


พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [1. กัมมขันธกะ] 4. ปฏิสารณียกรรม
ครั้นเขาทราบว่าพระเถระรับคำนิมนต์แล้ว ได้ลุกขึ้นไหว้พระเถระทั้งหลาย ทำ
ประทักษิณแล้วเข้าไปหาท่านพระสุธรรม ไหว้แล้วยืน ณ ที่สมควร เรียนท่านพระ
สุธรรมว่า “ท่านผู้เจริญ นิมนต์รับภัตตาหารของกระผม เพื่อเจริญกุศลในวันรุ่งขึ้น
พร้อมกับพระเถระทั้งหลายเถิด”
ลำดับนั้น พระสุธรรมคิดว่า “แต่ก่อนจิตตคหบดีนี้เมื่อต้องการจะนิมนต์สงฆ์
คณะ หรือบุคคลก็ต้องบอกเราก่อนทุกครั้ง แต่เวลานี้กลับไม่บอกเราก่อนแล้วไปนิมนต์
พระเถระทั้งหลาย บัดนี้จิตตคหบดีคงจะโกรธไม่สนใจใยดี เบื่อหน่ายเราเสียแล้ว” จึง
ตอบว่า “อย่าเลย จิตตคหบดี อาตมาไม่รับนิมนต์”
แม้ครั้งที่ 2 จิตตคหบดี ก็กราบเรียนท่านพระสุธรรมดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ นิมนต์
รับภัตตาหารของกระผม เพื่อเจริญกุศลในวันรุ่งขึ้นพร้อมกับพระเถระทั้งหลายเถิด”
ท่านพระสุธรรมตอบว่า “อย่าเลย จิตตคหบดี อาตมาไม่รับนิมนต์”
แม้ครั้งที่ 3 จิตตคหบดี ก็กราบเรียนท่านพระสุธรรมดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ นิมนต์
รับภัตตาหารของกระผม เพื่อเจริญกุศลในวันรุ่งขึ้นพร้อมกับพระเถระทั้งหลายเถิด”
ท่านพระสุธรรมตอบว่า “อย่าเลย จิตตคหบดี อาตมาไม่รับนิมนต์”
เวลานั้น จิตตคหบดีคิดว่า “พระสุธรรมจะรับหรือไม่รับนิมนต์ก็ทำอะไรเราไม่ได้”
ไหว้พระสุธรรมแล้วทำประทักษิณจากไป

พระสุธรรมวิวาทกับจิตตคหบดี
[34] ครั้นล่วงราตรีนั้นไป จิตตคหบดีให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต
ไว้ถวายภิกษุผู้เถระทั้งหลาย สมัยนั้น ท่านพระสุธรรมคิดว่า “ถ้ากระไร เราควร
ตรวจดูของเคี้ยวของฉันที่จิตตคหบดีเตรียมถวายภิกษุผู้เถระทั้งหลาย” พอถึงเวลาเช้า
จึงนุ่งอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปนิเวศน์ของจิตตคหบดี นั่งบนอาสนะที่เขา
จัดถวาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :66 }