เมนู

พระวินัยปิฎก จูฬรรค [4. สมถขันธกะ] 9. อธิกรณวูปสมนสมถะ
ในตัสสปาปิยสิกานั้นมีอะไรบ้าง
มีกิริยา ความกระทำ ความเข้าไป ความเข้าไปเฉพาะ ความรับรอง ความไม่
คัดค้านกรรมคือตัสสปาปิยสิกาอันใด นี้มีในตัสสปาปิยสิกานั้น
ภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่รื้อฟื้น ผู้ให้ฉันทะติเตียน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ที่ติเตียน

ปฏิญญาตกรณะ
อาปัตตาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะ 3 อย่าง
[239] อาปัตตาธิกรณ์ ระงับด้วยสมถะเท่าไร อาปัตตาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะ
3 อย่าง คือ (1) สัมมุขาวินัย (2) ปฏิญาตกรณะ (3) ติณวัตถารกะ
บางทีอาปัตตาธิกรณ์ ไม่อาศัยสมถะอย่างหนึ่ง คือ ติณวัตถารกะ พึงระงับ
ด้วยสมถะ 2 อย่าง คือ (1) สัมมุขาวินัย (2) ปฏิญญาตกรณะ บางทีพึงตกลง
กันได้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องลหุกาบัติแล้ว เธอพึงเข้าไปหาภิกษุ
รูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษาทั้งหลาย
นั่งกระโหย่ง ประนมมือ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ผมต้องอาบัติชื่อนี้ ผม
แสดงคืนอาบัตินั้น”
ภิกษุผู้รับนั้นพึงกล่าวว่า “ท่านเห็นหรือ”
ภิกษุผู้แสดงนั้นพึงกล่าวว่า “ขอรับ ผมเห็น”
ภิกษุผู้รับนั้นพึงกล่าวว่า “ท่านพึงสำรวมต่อไป”
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอธิกรณ์ระงับแล้ว
ระงับด้วยอะไร ด้วยสัมมุขาวินัยกับปฏิญญาตกรณะ
ในสัมมุขาวินัยนั้นมีอะไรบ้าง มีความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย
ความพร้อมหน้าบุคคล ฯลฯ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :363 }