เมนู

พระวินัยปิฎก จูฬรรค [4. สมถขันธกะ] 9. อธิกรณวูปสมนสมถะ
ภิกษุทั้งหลาย อธิกรณ์ระงับอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ที่รื้อฟื้น
ผู้ให้ฉันทะติเตียน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ที่ติเตียน

ติวิธสลากคาหะ
ว่าด้วยการจับสลาก 3 วิธี
[235] สมัยนั้น อธิกรณ์เกิดแล้วอย่างนี้ อุบัติแล้วอย่างนี้ ในกรุงสาวัตถี
ภิกษุเหล่านั้นไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของสงฆ์ในกรุงสาวัตถี ได้ทราบข่าวว่า “ใน
อาวาสโน้น มีพระเถระอยู่หลายรูป เป็นพหูสูต ชำนาญปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษา ถ้าพระเถระเหล่านั้นพึงระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรม โดยวินัย และโดย
สัตถุศาสน์ อย่างนี้อธิกรณ์นี้พึงระงับด้วยดี” จึงไปสู่อาวาสนั้นแล้วเรียนกับพระเถระ
พวกนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ อธิกรณ์นี้เกิดแล้วอย่างนี้ อุบัติแล้ว อย่างนี้ ขอโอกาสขอรับ
ขอพระเถระทั้งหลายจงระงับอธิกรณ์นี้ โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์
ตามวิถีทางที่อธิกรณ์นี้พึงระงับด้วยดี”
พระเถระพวกนั้นช่วยระงับอธิกรณ์นั้นแล้ว เหมือนอย่างที่สงฆ์ในกรุงสาวัตถี
ระงับแล้ว ตามวิธีที่ระงับด้วยดีแล้วฉะนั้น ครั้งนั้น ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่พอใจ ด้วยการ
ระงับอธิกรณ์ของสงฆ์ในกรุงสาวัตถีนั้น ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของพระเถระ
มากรูป ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสโน้น มีพระเถระอยู่ 3 รูป ฯลฯ มีพระเถระอยู่
2 รูป ฯลฯ มีพระเถระอยู่รูปเดียว เป็นพหูสูต ชำนาญปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา มีความละอาย มีความระมัดระวัง
ใฝ่การศึกษา ถ้าพระเถระนั้นพึงระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์
อย่างนี้อธิกรณ์นี้พึงระงับด้วยดี” จึงไปสู่อาวาสนั้น แล้วกราบเรียนพระเถระนั้นว่า
“ท่านขอรับ อธิกรณ์นี้เกิดแล้วอย่างนี้ อุบัติแล้วอย่างนี้ ขอโอกาสขอรับ ขอพระเถระ
จงระงับอธิกรณ์นี้ โดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสน์ ตามวิถีทางที่อธิกรณ์นี้
จะพึงระงับด้วยดี”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :354 }


พระวินัยปิฎก จูฬรรค [4. สมถขันธกะ] 9. อธิกรณวูปสมนสมถะ
พระเถระนั้นช่วยระงับอธิกรณ์นั้นแล้ว เหมือนอย่างที่สงฆ์ในกรุงสาวัตถีระงับแล้ว
เหมือนอย่างที่พระเถระมากรูประงับแล้ว เหมือนอย่างที่พระเถระ 3 รูประงับแล้ว
และเหมือนอย่างที่พระเถระ 2 รูประงับแล้ว ตามวิธีที่ระงับด้วยดีแล้ว ฉะนั้น
ครั้งนั้น พวกภิกษุเหล่านั้นผู้ที่ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของสงฆ์ในกรุง
สาวัตถี ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของพระเถระมากรูป ไม่พอใจด้วยการระงับ
อธิกรณ์ของพระเถระ 3 รูป ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของพระเถระ 2 รูป
ไม่พอใจด้วยการระงับอธิกรณ์ของพระเถระรูปเดียว แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มี
พระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อธิกรณ์ที่พิจารณาแล้วนั้นเป็นอัน
สงบระงับ ระงับดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวิธีจับสลาก 3 อย่าง คือ ปกปิด
1 กระซิบบอก 1 เปิดเผย 1 ตามความยินยอมของภิกษุพวกนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง วิธีจับสลากปกปิด เป็นไฉน
ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้นพึงทำสลากให้มีสี และไม่มีสี แล้วเข้าไปหาภิกษุทีละรูป ๆ
แล้วแนะนำอย่างนี้ว่า “นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ ท่าน
จงจับสลากที่ชอบใจ” เมื่อภิกษุนั้นจับแล้ว พึงแนะนำว่า “ท่านอย่าแสดงแก่ใคร ๆ”
ถ้ารู้ว่า “อธรรมวาทีมากกว่า” พึงบอกว่า “สลากจับไม่ดี” แล้วให้จับใหม่ ถ้ารู้ว่า
“ธรรมวาทีมากกว่า” พึงประกาศว่า “สลากจับดีแล้ว” ภิกษุทั้งหลาย วิธีจับสลาก
ปกปิดเป็นอย่างนี้แหละ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง วิธีจับสลากกระซิบบอก เป็นไฉน
ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้น พึงกระซิบบอกที่ใกล้หูของภิกษุแต่ละรูป ๆ ว่า “นี้
สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ ท่านจงจับสลากที่ชอบใจ” เมื่อ
ภิกษุนั้นจับแล้ว พึงแนะนำว่า “ท่านอย่าบอกแก่ใคร ๆ” ถ้ารู้ว่า “อธรรมวาทีมาก
กว่า” พึงบอกว่า “สลากจับไม่ดี” แล้วให้จับใหม่ ถ้ารู้ว่า “ธรรมวาทีมากกว่า” พึง
ประกาศว่า “สลากจับดีแล้ว” ภิกษุทั้งหลาย วิธีจับสลาก กระซิบบอกเป็นอย่าง
นี้แหละ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :355 }