เมนู

พระวินัยปิฎก จูฬรรค [4. สมถขันธกะ] 9. อธิกรณวูปสมนสมถะ
อุพพาหิกายวูปสมนะ
ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ด้วยอุพพาหิกวิธี1
[231] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่ มีเสียงเซ็ง
แซ่เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุดและไม่มีใครทราบความแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น เราอนุญาต
ให้ระงับอธิกรณ์เห็นปานนี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ 10 ประการ
สงฆ์พึงแต่งตั้งด้วยอุพพาหิกวิธี คือ
1. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ
และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
2. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด ที่งามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด ย่อมสรรเสริญพรหมจรรย์พร้อม
ทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ธรรมทั้งหลาย
เห็นปานนั้น ย่อมเป็นอันเธอสดับมาก ทรงไว้ สั่งสมด้วยวาจาเข้าไป
เพ่งด้วยใจ ประจักษ์ชัดดีแล้วด้วยทิฏฐิ
3. จำปาติโมกข์ทั้ง 2 ได้ดีโดยพิสดาร จำแนกดี สวดดี วินิจฉัยถูก
ต้องโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ
4. เป็นผู้ตั้งมั่นในพระวินัย ไม่คลอนแคลน
5. เป็นผู้อาจชี้แจงให้คู่ต่อสู้ในอธิกรณ์ยินยอม เข้าใจ เพ่ง เห็น เลื่อมใส
6. เป็นผู้ฉลาดเพื่อยังอธิกรณ์อันเกิดขึ้นให้ระงับ
7. รู้อธิกรณ์
8. รู้เหตุเกิดอธิกรณ์
9. รู้ความระงับแห่งอธิกรณ์
10. รู้ทางระงับอธิกรณ์

เชิงอรรถ :
1 อุพพาหิกวิธี คือ วิธีระงับวิวาทาธิกรณ์ ในกรณีที่ประชุมสงฆ์มีความไม่สะดวกด้วยเหตุบางอย่าง สงฆ์จึง
เลือกภิกษุบางรูปในที่ประชุมนั้น ตั้งเป็นคณะแล้วมอบเรื่องให้นำไปวินิจฉัย (วิ.อ. 3/231/299)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 6 หน้า :349 }