เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 170. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น พราหมณ์ได้นำข้าวต้มและขนมหวานจำนวนมากมาประเคนภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้าม
ภัตแล้ว ล้างพระหัตถ์แล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

ประโยชน์ของข้าวต้มมี 10 อย่าง
พระผู้มีพระภาคตรัสกับพราหมณ์ผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า “พราหมณ์ ข้าวต้ม
มีอานิสงส์ 10 ประการ คือ ผู้ถวายข้าวต้มชื่อว่า (1) ให้อายุ (2) ให้วรรณะ
(3) ให้สุขะ (4) ให้พละ (5) ให้ปฏิภาณ (6) บรรเทาความหิว (7) ระงับความ
กระหาย (8) ให้ลมเดินคล่อง (9) ชำระลำไส้ (10) เผาอาหารที่ยังไม่ย่อยให้ย่อย
พราหมณ์ ข้าวต้มมีอานิสงส์ 10 ประการนี้แล
ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว พระสุคตตรัสอนุโมทนาต่อไปว่า
“ทายกผู้ตั้งใจถวายข้าวต้มแก่ปฏิคาหกผู้สำรวมแล้ว
ผู้ฉันอาหารที่ผู้อื่นถวายตามกาลสมควร
เขาได้ชื่อว่าตามเพิ่มให้ประโยชน์ 10 ประการแก่ปฏิคาหก
คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ
นอกจากนั้นข้าวต้มย่อมบรรเทาความหิว ความกระหาย
ให้ลมเดินคล่อง ชำระลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร
พระสุคตตรัสว่าข้าวต้มเป็นยา
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการความสุขอันเป็นของมนุษย์ตลอดกาลนาน
และปรารถนาความสุขอันเป็นทิพย์ หรือปรารถนาความงาม
อันเป็นของมนุษย์ จึงควรถวายข้าวต้ม”
เมื่อทรงอนุโมทนาแก่พราหมณ์ด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว จึงเสด็จลุกจากที่
ประทับกลับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :89 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 171. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตข้าวต้มและขนมหวาน”

171. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
ว่าด้วยมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่
[283] คนทั้งหลายทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าวต้มและ
ขนมหวานแก่ภิกษุ จึงจัดเตรียมข้าวต้มข้น1และขนมหวานถวายแต่เช้า พวกภิกษุ
ที่รับประเคนข้าวต้มข้นและขนมหวานแต่เช้า ฉันภัตตาหารในโรงอาหารไม่ได้ตาม
ต้องการ
สมัยนั้น มหาอมาตย์คนหนึ่งผู้เลื่อมใสใหม่ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานเพื่อเจริญกุศลในวันรุ่งขึ้น มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้นได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “ถ้ากระไร เราพึงตกแต่งสำรับเนื้อ 1,250 ที่ เพื่อภิกษุ 1,250 รูป
น้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ 1 ที่” โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น เขาสั่งให้จัดเตรียม
ของฉันอย่างดี และสำรับเนื้อ 1,250 ที่ แล้วให้เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาล
พระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปนิเวศน์ของมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เขาได้ประเคนภิกษุในโรงอาหาร
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “มหาอมาตย์ ท่านจงถวายแต่น้อย ๆ เถิด”
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านอย่ารับเพียงน้อย ๆ เพราะคิดว่า
‘นี่เป็นมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่’ ผมจัดเตรียมของฉันไว้เป็นจำนวนมากพร้อมด้วย

เชิงอรรถ :
1 ข้าวต้มข้น ข้าวต้มที่ควรบริโภค คือมีคติอย่างข้าวสุก (สารตฺถ.ฏีกา 3/283/368)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :90 }