เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 166. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่แล้ว
ได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนท่านอาพาธร้อนในกาย
กลับมีความสำราญด้วยยาอะไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมมีความสำราญด้วยเหง้าบัวและ
รากบัว”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายตัวจากพระเชตวันมาปรากฏที่ฝั่ง
สระโบกขรณีมันทากินีเร็วเหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ช้างตัวหนึ่งเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงได้กล่าวกับ
ท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะมาเถิด พระ
คุณเจ้ามาดี ต้องการอะไร จะถวายอะไรดีเล่า”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “อาตมาต้องการเหง้าบัวกับรากบัว”
ช้างนั้นสั่งช้างอีกตัวหนึ่งว่า “ท่านจงถวายเหง้าบัวกับรากบัวตามต้องการแด่
พระคุณเจ้า”
ช้างตัวนั้นลงสระโบกขรณีมันทากินี ใช้งวงถอนเหง้าบัวและรากบัวล้างน้ำจน
สะอาด ม้วนเป็นห่อแล้วเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายตัวจากฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มา
ปรากฏตัวที่พระเชตวันวิหาร เหมือนคนมีกำลังเหยียดออกหรือคู้แขนเข้า แม้ช้าง
เชือกนั้นก็หายจากฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มาปรากฏตัวที่พระเชตวันวิหาร
ประเคนเหง้าบัวและรากบัวแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วหายตัวไปจากพระ
เชตวันมาปรากฏที่ฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี
ต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะน้อมเหง้าบัวและรากบัวเข้าไปถวายท่านพระ
สารีบุตร เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเหง้าบัวและรากบัว อาพาธร้อนในกายก็หาย
ทันที เหง้าบัวและรากบัวยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :77 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 167. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
สมัยนั้น เกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง
พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าพระสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตตาหารแล้วทั้งนั้น
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา
อนุญาตให้ภิกษุฉันแล้วห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดน ที่เกิดในป่า
ที่เกิดในกอบัวได้”

เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก
สมัยนั้น ของฉันคือผลไม้มีมากมายในกรุงสาวัตถี แต่ไม่มีกัปปิยการก ภิกษุ
ทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ฉันผลไม้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่ใช้เพาะ
พันธุ์ไม่ได้1 ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้วยังไม่ทำกัปปะก็ฉันได้”

167. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยการทรงห้ามทำสัตถกรรม2

เรื่องริดสีดวงทวาร
[279] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัย
แล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
ในกรุงราชคฤห์นั้น

เชิงอรรถ :
1 ผลไม้ที่เพาะพันธุ์ไม่ได้ หมายถึงผลไม้ที่มีเมล็ดอ่อน ไม่สามารถให้เกิดหน่อได้ (วิ.อ. 3/279/176)
2 สัตถกรรม คือ การผ่าตัดด้วยศัสตรา การบ่งด้วยเข็มหรือหนาม การตัดด้วยกรรไกรหรือใช้เล็บหยิก
ในที่ลับ (วิ.อ. 3/279/177)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :78 }