เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 147. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปที่อยู่ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่จัดไว้ แม้ท่านพระโสณโกฬิวิสะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

เรื่องทรงเปรียบเทียบความเพียรกับสายพิณ
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระโสณโกฬิวิสะผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า
“โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ในบรรดาพระสาวกของ
พระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่
หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่
เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรสึกไปใช้
สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ
อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสาย
พิณของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้การ
ได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :7 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 147. โสณโกฬิวิสวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภอย่างยิ่ง
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน1 จงถือ
เอานิมิต2ในความเสมอกันนั้น” ท่านพระโสณะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะ มาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น

พระโสณะบรรลุอรหัตตผล
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” ท่านพระ
โสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

อุปนิสัยสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์
[244] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไป

เชิงอรรถ :
1 ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน หมายถึงปรับศรัทธาให้เสมอกับปัญญา และปรับปัญญาให้เสมอกับศรัทธา ปรับ
วิริยะให้เสมอกับสมาธิ และปรับสมาธิให้เสมอกับวิริยะ ส่วนสตินั้นยิ่งมีเท่าไรก็ยิ่งดีไม่มีคำว่าเกิน (วิ.อ. 3/
243/164, สารตฺถ.ฏีกา 3/443/352-353)
2 ถือเอานิมิต ในที่นี้ หมายถึงให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (สารตฺถ.ฏีกา
3/243/353)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :8 }