เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 163. คุฬาทิอนุชานนา
เรื่องฉันเภสัชที่เก็บไว้ 7 วัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุคิดเพื่อความมักมาก
อย่างนั้นจริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรับประเคนเภสัชที่ควรสำหรับภิกษุไข้ คือ เนยใส เนยข้น
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แล้วเก็บไว้ฉันได้ 7 วัน เป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนด
นั้นไปพึงปรับอาบัติตามธรรม”
เภสัชชานุญญาตภาณวาร ที่ 1 จบ

163. คุฬาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตน้ำอ้อยงบเป็นต้น

เรื่องน้ำอ้อยงบ
[272] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัย
แล้ว เสด็จไปกรุงราชคฤห์ ในระหว่างทาง ท่านพระกังขาเรวตะแวะเข้าโรงทำน้ำ
อ้อยงบ เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในน้ำอ้อยงบ ยำเกรงอยู่ว่า “น้ำอ้อย
งบเจืออามิสเป็นของไม่ควรฉันในเวลาวิกาล” พร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันน้ำอ้อยงบ
แม้ภิกษุทั้งหลายที่เชื่อฟังท่านก็พลอยไม่ฉันน้ำอ้อยงบไปด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านผสม
แป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในน้ำอ้อยงบเพื่ออะไร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :68 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 163. คุฬาทิอนุชานนา
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เพื่อให้เนื้อน้ำอ้อยเกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้างลงในน้ำ
อ้อยงบ เพื่อให้เนื้อน้ำอ้อยเกาะกันแน่น น้ำอ้อยงบนั้นก็ยังคงเป็นน้ำอ้อยงบเหมือนเดิม
เราอนุญาตให้ฉันน้ำอ้อยงบได้ตามสบาย”

เรื่องถั่วเขียว
ท่านพระกังขาเรวตะเห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระระหว่างทาง ยำเกรงอยู่
ว่า “ถั่วเขียวเป็นของไม่ควร ถึงต้มแล้วก็ยังงอกได้” พร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว
แม้พวกภิกษุที่เชื่อฟังท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวไปด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าถั่วเขียวแม้ที่ต้มสุกแล้วแต่ยังงอกได้
เราอนุญาตให้ฉันได้ตามสบาย”

เรื่องยาดองโลณโสวีรกะ1
[273] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมในท้อง จึงดื่มยาดองโลณโสวีรกะ
โรคลมสงบลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้ฉันยาดองโลณ-
โสวีรกะได้ตามสบาย แต่ผู้ไม่เป็นไข้ต้องเจือน้ำฉันอย่างน้ำปานะ”

เชิงอรรถ :
1 ยาดองโลณโสวีรกะ ได้แก่ ยาที่ปรุงด้วยส่วนประกอบนานาชนิด เช่น มะขามป้อมสด สมอพิเภก
ธัญชาติทุกชนิด ถั่วเขียว ข้าวสุก ผลกล้วย หน่อหวาย การเกด อินทผลัม หน่อไม้ ปลา เนื้อ น้ำผึ้ง
น้ำอ้อย เกลือ โดยใส่เครื่องยาเหล่านี้ในหม้อ ปิดฝามิดชิด เก็บดองไว้ 1 วัน 2 วัน หรือ 3 วัน เมื่อยา
นี้สุกได้ที่แล้ว จะมีรสและสีเหมือนผลหว้า เป็นยาแก้โรคลม โรคไอ โรคเรื้อน โรคผอมเหลือง (ดีซ่าน)
โรคริดสีดวงเป็นต้น ในกาลภายหลังภัต คือเที่ยงวันไปก็ฉันได้ (วิ.อ. 1/192/518)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :69 }