เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 279. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี สังฆสามัคคีมี 2 อย่าง คือ สังฆสามัคคี
ผิดไปจากอรรถ แต่ได้พยัญชนะ และสังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและได้ทั้งพยัญชนะ
สังฆสามัคคีผิดไปจากอรรถแต่ได้พยัญชนะอย่างไรบ้าง คือ ความบาดหมาง
ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์
ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ไม่ได้
วินิจฉัย ไม่ได้สืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี อย่างนี้เรียกว่าสังฆสามัคคีผิดไป
จากอรรถแต่ได้พยัญชนะ
สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและได้ทั้งพยัญชนะเป็นอย่างไร คือ ความบาดหมาง
ความทะเลาะ ความขัดแย้ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์
ความแบ่งแยกแห่งสงฆ์ การทำสงฆ์ให้เป็นต่าง ๆ กันย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ได้
วินิจฉัยสืบสวนเรื่องนั้นแล้วทำสังฆสามัคคี อย่างนี้เรียกว่าสังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถและ
ได้ทั้งพยัญชนะ
อุบาลี สังฆสามัคคีมี 2 อย่างนี้แล

เรื่องไม่ถูกตำหนิโดยศีลอุบาลีคาถา
[477] ลำดับนั้น ท่านพระอุบาลีลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้าง
หนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาดังนี้ว่า
[478] พระอุบาลีกราบทูลถามว่า “เมื่อมีกิจการปรึกษา
การตีความและการวินิจฉัยความเรื่องวินัยเกิดขึ้นแก่สงฆ์
ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุเช่นไรจึงจัดว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก
และควรแก่การยกย่อง”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เบื้องต้น ภิกษุมีศีลไม่ด่างพร้อย
มีมารยาทสงบเสงี่ยม ศัตรูตำหนิไม่ได้โดยธรรม
เพราะไม่มีความผิดที่จะตำหนิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :372 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 279. อุปาลิสังฆสามัคคีปุจฉา
เธอผู้เช่นนั้น ตั้งอยู่ในสีลวิสุทธิ กล้าหาญ พูดจาฉะฉาน
เข้าที่ประชุมก็ไม่หวาดหวั่น ไม่ประหม่า พูดมีเหตุผลไม่เสียความ
เมื่อเธอถูกถามปัญหาในที่ประชุมก็คงเป็นเช่นนั้น
ไม่นิ่งอึ้ง ไม่เก้อเขิน เป็นผู้ชำนาญการ พูดถูกกาล สามารถตอบได้
เป็นที่ชอบใจของวิญญูชน เคารพภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า
แกล้วกล้าในอาจริยวาทของตน วิพากษ์วิจารณ์ได้
พูดได้คล่อง สามารถจับข้อผิดพลาดของศัตรูได้
เป็นเหตุให้ศัตรูต้องพ่ายแพ้และมหาชนก็นิยม
เธอย่อมไม่ลบล้างความเชื่อคืออาจริยวาทของตน
สามารถในการแก้ปัญหา
สามารถทำงานทูตและรับทำกิจของสงฆ์
ดุจรับบิณฑบาตของที่มีคนนำมาบูชาฉะนั้น
เมื่อถูกสงฆ์ส่งไปเจรจาก็ไม่ทะนงตัวว่าตนทำได้
เพราะการทำหน้าที่เจรจานั้น
ภิกษุต้องอาบัติเพราะวัตถุมีประมาณเท่าใด
และการออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด
วิภังค์ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุรูปนั้น
ผู้ซึ่งฉลาดในวิธีออกจากอาบัติ
อนึ่ง ภิกษุทำกรรมมีก่อความบาดหมางเป็นต้นเหล่าใด
ย่อมถึงการขับออกและถูกขับออกด้วยเรื่องเช่นใด
เธอฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจวิธีการรับเข้าหมู่แม้นั้น
ที่ควรทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติวัตรนั้นเสร็จแล้ว
เธอเคารพภิกษุทั้งหลายผู้มีพรรษามากกว่า
คือ ทั้งที่เป็นเถระ มัชฌิมะ และนวกะ
เป็นบัณฑิต ทำประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้
ภิกษุเช่นนี้จึงควรแก่การยกย่องในธรรมวินัยนี้แล”
โกสัมพิกขันธกะที่ 10 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :373 }