เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 272. ทีฆาวุวัตถุ
ท้าวเธอเสด็จขึ้นราชรถแล้ว ทีฆาวุกุมารขับราชรถไปไม่นานก็มาพบกองทหาร
เมื่อเสด็จเข้ากรุงพาราณสีแล้ว รับสั่งให้เรียกประชุมอมาตย์ราชบริษัทแล้วตรัสถาม
ว่า “ถ้าพวกท่านพบทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชจะทำอะไรแก่เขา”
อมาตย์บางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดมือ
ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดเท้า ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดทั้งมือและเท้า
ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดหู ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดจมูก ขอเดชะ
พวกข้าพระองค์จะตัดทั้งหูและจมูก ขอเดชะ พวกข้าพระองค์จะตัดศีรษะ”
พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสว่า “นาย ชายหนุ่มผู้นี้แล คือ ทีฆาวุกุมาร
โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น ใครจะทำร้ายชายหนุ่มคนนี้ไม่ได้ เขาให้ชีวิต
แก่เราและเราก็ได้ให้ชีวิตแก่เขา”
[463] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชได้ตรัสกับทีฆาวุ
กุมารดังนี้ว่า “พ่อทีฆาวุ คำสั่งที่พระชนกของเธอได้ตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า ‘พ่อ
ทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวรแต่ระงับ
ได้ด้วยการไม่จองเวร’ พระชนกของเธอตรัสไว้หมายความว่าอย่างไร”
ทีฆาวุกุมารกราบทูลว่า “ขอเดชะ คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้เมื่อ
ใกล้จะสวรรคตว่า ‘เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว’ นี้หมายความว่า ‘อย่าได้จองเวรให้ยืดเยื้อ’
ดังนั้น พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า ‘เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว’
คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้อีกว่า ‘เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น’ นี้หมายความ
ว่า ‘เจ้าอย่าแตกร้าวจากมิตรเร็วนัก’ ดังนั้น พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อ
ใกล้จะสวรรคตว่า ‘เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น’
คำสั่งที่พระชนกของข้าพระองค์ตรัสไว้อีกว่า ‘เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร
แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร’ นี้หมายความว่า ‘พระชนกชนนีของข้าพระองค์
ถูกพระองค์ปลงพระชนม์ชีพแล้ว ถ้าข้าพระองค์ปลงพระชนม์ชีพของพระองค์บ้าง
คนที่มุ่งประโยชน์แก่พระองค์ก็จะพึงฆ่าข้าพระองค์ คนที่มุ่งประโยชน์แก่ข้าพระองค์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :352 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 272. ทีฆาวุวัตถุ
ก็จะพึงฆ่าคนพวกนั้นอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ เวรนั้นไม่พึงระงับด้วยการจองเวร แต่มา
บัดนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระองค์ และข้าพระองค์
ก็ได้ทูลถวายพระชนมชีพแก่พระองค์ จึงเป็นอันว่าเวรนั้นระงับแล้วด้วยการไม่จองเวร
ดังนั้น พระชนกของข้าพระองค์จึงตรัสไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า ‘เวรย่อมไม่ระงับด้วย
การจองเวร แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสีราชตรัสว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นเรื่องที่ไม่เคยมี ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทีฆาวุกุมารผู้นี้
เฉลียวฉลาดจึงเข้าใจความหมายแห่งคำพูดที่พระชนกตรัสไว้โดยย่อได้โดยพิสดาร”
แล้วได้โปรดพระราชทานคืนกองทหาร พาหนะ ชนบท คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และ
คลังพืชพันธุ์ธัญญาหารอันเป็นพระราชสมบัติของพระชนกและได้พระราชทานพระ
ราชธิดาให้อภิเษกสมรสด้วย
ภิกษุทั้งหลาย ขันติและโสรัจจะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระราชาเหล่านั้นผู้ทรง
อาญาทรงถือศัสตราวุธ การที่พวกเธอบวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้
จะพึงมีความอดทนและความสงบเสงี่ยมนั้น ก็จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้แน่
แม้ครั้งที่ 3 พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “อย่าเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย”
ภิกษุอธรรมวาทีรูปนั้นก็ยังกราบทูลอีกเป็นครั้งที่ 3 ว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นธรรมสามีทรงโปรดรอไปก่อน ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อยประกอบ
ตามสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระพุทธเจ้าจะปรากฏเพราะความบาด
หมาง เพราะความทะเลาะ เพราะความขัดแย้ง เพราะการวิวาทนั้นเอง พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “พวกโมฆบุรุษเหล่านี้ดื้อรั้นนัก จะทำ
ให้สามัคคีกันไม่ใช่ง่าย” แล้วทรงลุกจากอาสนะแล้วเสด็จจากไป
ทีฆาวุภาณวารที่ 1 จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :353 }