เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 158. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ท่านผู้เจริญ กระผมจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ โสณะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจะเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส1 มีพระอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรง
บรรลุทมถะและสมถะสูงสุด2 ทรงฝึกฝนแล้ว คุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรง
เป็นผู้ประเสริฐ ท่านโสณะ ท่านจงถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้าแทบพระบาทของ
พระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระมหากัจจานะผู้เป็นพระ
อุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ ขอถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้า’ ดังนี้ และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า
1. พระพุทธเจ้าข้า อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ข้าพระองค์จัดหา
ภิกษุสงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ 10 รูป ได้ยาก
ลำบาก เวลาล่วงไปถึง 3 ปี3 จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ

เชิงอรรถ :
1 น่าเลื่อมใส คือให้เกิดความเลื่อมใส (วิ.อ. 3/257/170) พระรูปกายของพระผู้มีพระภาคถึงพร้อมด้วย
พระรัศมีแห่งพระสรีระอันนำความเลื่อมใสมารอบด้าน เพราะประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ
อนุพยัญชนะ 80 ประการ และพระเกตุมาลามีพระรัศมีแผ่ออกข้างละวา นำความเลื่อมใสมาแก่ชนผู้สนใจ
ทัสสนาพระรูปกาย เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมด้วยกองธรรมอันประกอบ
ด้วยหมู่แห่งคุณที่ประมาณมิได้ เป็นต้นว่า พลญาณ 10 เวสารัชชญาณ 4 อสาธารณญาณ 6 (ดู ขุ.ป.
31/68-73/5,121/137) และพุทธธรรมเฉพาะอย่าง 18 ประการ (ดู ที.ปา.อ. 3/305/188-189)
(ขุ.อุ.อ. 90, สารตฺถ.ฏีกา 3/257/363)
2 ทมถะและสมถะ หมายถึงปัญญาและสมาธิและหมายถึงความสงบกายและความสงบจิตบ้าง (วิ.อ. 3/
257/170) ทมถะและสมถะที่สูงสุด คือปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติอันเป็นโลกุตตระ (สารตฺถ. ฏีกา. 3/
257/363)
3 หมายถึง เวลาผ่านไป 3 พรรษา นับจากวันที่บรรพชาเป็นสามเณร (วิ.อ. 3/257/170)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :34 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 158. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
2. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มี
รอยระแหงกีบโค ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า
หลายชั้น เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
3. พระพุทธเจ้าข้า พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต
การอาบน้ำได้เป็นนิตย์ เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
4. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้า
ตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง ถ้ากระไร
พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ
หนังแพะ และหนังมฤค เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
5. พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ พวกมนุษย์ถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่นอกสีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’
ภิกษุผู้รับฝากเหล่านั้นมาบอกว่า ‘พวกมนุษย์ชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่าน’
ภิกษุที่จะได้รับจีวรเหล่านั้นยำเกรงอยู่ จึงไม่ยินดี ด้วยคิดว่า
‘ของที่เป็นนิสสัคคีย์1 อย่าได้มีแก่พวกเราเลย’ ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงตรัสบอกเหตุในเรื่องจีวร”

พระโสณะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ท่านพระโสณะรับคำของท่านพระมหากัจจานะแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้ท่าน
พระมหากัจจานะ ทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร จาริกไปทาง
กรุงสาวัตถี เดินทางไปโดยลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ถึงพระเชตวันอารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐีแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดเกี่ยวกับของที่เป็นนิสสัคคีย์ใน วิ.มหา. (แปล) 2/459-541/1-69

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :35 }