เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [9. จัมเปยยขันธกะ] 270. รวมเรื่องที่มีในจัมเปยยขันธกะ
เรื่องสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล
เรื่องสงฆ์ทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ด่าบริภาษคฤหัสถ์
เรื่องพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำหมู่ตรัสอุกเขปนียกรรม
แก่ภิกษุผู้ไม่เห็นอาบัติ ไม่ทำคืนอาบัติ และไม่สละทิฏฐิบาป
เรื่องการระงับตัชชนียกรรมเป็นต้นแก่ภิกษุผู้กลับตัวได้
ภิกษุผู้มีปัญญาพึงลงตัชชนียกรรมให้ถูกต้องตามวินัย
ภิกษุผู้ประพฤติเรียบร้อยอนุวัตรตามระเบียบวินัยเหล่านั้น
ขอระงับกรรมเหล่านั้นตามนัยแห่งกรรมที่กล่าวไว้ก่อน
เรื่องในกรรมนั้น ๆ สงฆ์ผู้อยู่ในที่ประชุมคัดค้านว่า
กรรมไม่เป็นอันทำ กรรมทำไม่ถูก ต้องทำใหม่ และเมื่อกรรมระงับ
ภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรมวาที
พระมหามุนีทรงเห็นภิกษุพวกเข้ากรรมได้รับความลำบาก
โดยกรรมาวิบัติจึงทรงชี้วิธีระงับได้ ดุจนายแพทย์ผู้ชำนาญได้
บอกตัวยาไว้ฉะนั้น
จัมเปยยขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :332 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 271. โกสัมพิกวิวาทกถา
10. โกสัมพิกขันธกะ
271. โกสัมพิกวิวาทกถา
ว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน
[451] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
ครั้งนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติ ภิกษุรูปนั้นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ
แต่ภิกษุพวกอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ
ต่อมา ภิกษุรูปนั้นกลับมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุพวก
อื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกับภิกษุรูปนั้นดังนี้ว่า “ท่าน ท่านต้องอาบัติแล้ว
ท่านจงเห็นอาบัตินั้น” ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่จะพึงเห็น”
ภายหลัง ภิกษุเหล่านั้นได้ความพร้อมเพรียงแล้วจึงลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
รูปนั้นเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ1

เชิงอรรถ :
1 พวกภิกษุที่ลงอุกเขปนียกรรม เป็นอุปัชฌาย์ของพวกภิกษุวินัยธรผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย ส่วนภิกษุที่ถูกลง
อุกเขปนียกรรมเป็นอุปัชฌาย์ของพวกภิกษุสุตตันติกะผู้เชี่ยวชาญในพระสูตร เรื่องมีอยู่ว่า
ณ อาวาสแห่งหนึ่ง ในกรุงโกสัมพี มีภิกษุอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสุตตันติกะเชี่ยวชาญพระสูตร และ
กลุ่มวินัยธร เชี่ยวชาญพระวินัย วันหนึ่ง อุปัชฌาย์ของพวกสุตตันติกะ เข้าห้องสุขา(วัจกุฎี)เหลือน้ำชำระ
ไว้ในภาชนะแล้วออกมา อุปัชฌาย์ของพวกวินัยธรเข้าไปทีหลัง เห็นน้ำนั้นจึงออกมาถามภิกษุสุตตันติกะว่า
“ท่านเหลือน้ำไว้หรือ” ภิกษุสุตตันติกะตอบว่า “ผมเหลือน้ำไว้” “ในกรณีนี้ ท่านไม่รู้ว่าเป็นอาบัติหรือ”
“ผมไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ” “ท่าน ในกรณีนี้ มีอาบัติอยู่” “ถ้ามีอาบัติ ผมจะแสดงอาบัติ” “ท่าน ถ้าไม่จงใจ
ไม่มีสติ ก็ไม่มีอาบัติ” เมื่อภิกษุวินัยธรกล่าวอย่างนี้ ภิกษุสุตตันติกะจึงมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ
ฝ่ายภิกษุวินัยธรบอกพวกนิสิตของตนว่า “ภิกษุสุตตันติกะนี้ แม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้” พวกนิสิตของภิกษุวินัยธร
จึงไปกล่าวกะพวกภิกษุสุตตันติกะว่า “อุปัชฌาย์ของท่าน แม้ต้องอาบัติแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ” พวก
ภิกษุสุตตันติกะ จึงไปบอกแก่อุปัชฌาย์ของตน พระอุปัชฌาย์ของพวกภิกษุสุตตันติกะกล่าวว่า “ในตอนต้น
ภิกษุวินัยธรนี้ กล่าวว่า “ไม่มีอาบัติ แต่ตอนนี้ กลับกล่าวว่า มีอาบัติ ภิกษุวินัยธรนี้พูดเท็จ” เมื่อ
อุปัชฌาย์กล่าวอย่างนี้ พวกนิสิตจึงไปกล่าวกะพวกภิกษุวินัยธรว่า “อุปัชฌาย์ของพวกท่านพูดเท็จ”
แล้วก่อความทะเลาะขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ลำดับนั้น ภิกษุวินัยธรได้โอกาส จึงลงอุกเขปนียกรรม
เพราะไม่เห็นอาบัติแก่ภิกษุสุตตันติกะนั้น (วิ.อ. 3/451/243)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :333 }