เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 158. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
แม้ครั้งที่ 2 อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่
ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ
ธรรมตามที่พระคุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครอง
เรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่
กระทำได้ง่าย’ กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจาก
เรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะจึงให้อุบาสกโสณกุฏิกัณณะบวช
ก็สมัยนั้น อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ท่านพระมหากัจจานะจัดหาภิกษุ
สงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ 10 รูป ได้ยากลำบาก เวลาล่วงไปถึง
3 ปี จึงให้ท่านโสณะอุปสมบทได้

158. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ว่าด้วยอาณัตติกพจน์ของท่านพระมหากัจจานะ 5 ประการ
สมัยนั้น ท่านพระโสณะออกพรรษาแล้ว หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความ
คิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระ
ลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไปเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ครั้นเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่านพระมหา
กัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระโสณะได้กล่าวกับท่านพระ
มหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิด
ความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไป
เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :33 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 158. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ท่านผู้เจริญ กระผมจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ โสณะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจะเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส1 มีพระอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรง
บรรลุทมถะและสมถะสูงสุด2 ทรงฝึกฝนแล้ว คุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรง
เป็นผู้ประเสริฐ ท่านโสณะ ท่านจงถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้าแทบพระบาทของ
พระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระมหากัจจานะผู้เป็นพระ
อุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ ขอถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้า’ ดังนี้ และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า
1. พระพุทธเจ้าข้า อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ข้าพระองค์จัดหา
ภิกษุสงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ 10 รูป ได้ยาก
ลำบาก เวลาล่วงไปถึง 3 ปี3 จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ

เชิงอรรถ :
1 น่าเลื่อมใส คือให้เกิดความเลื่อมใส (วิ.อ. 3/257/170) พระรูปกายของพระผู้มีพระภาคถึงพร้อมด้วย
พระรัศมีแห่งพระสรีระอันนำความเลื่อมใสมารอบด้าน เพราะประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ
อนุพยัญชนะ 80 ประการ และพระเกตุมาลามีพระรัศมีแผ่ออกข้างละวา นำความเลื่อมใสมาแก่ชนผู้สนใจ
ทัสสนาพระรูปกาย เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมด้วยกองธรรมอันประกอบ
ด้วยหมู่แห่งคุณที่ประมาณมิได้ เป็นต้นว่า พลญาณ 10 เวสารัชชญาณ 4 อสาธารณญาณ 6 (ดู ขุ.ป.
31/68-73/5,121/137) และพุทธธรรมเฉพาะอย่าง 18 ประการ (ดู ที.ปา.อ. 3/305/188-189)
(ขุ.อุ.อ. 90, สารตฺถ.ฏีกา 3/257/363)
2 ทมถะและสมถะ หมายถึงปัญญาและสมาธิและหมายถึงความสงบกายและความสงบจิตบ้าง (วิ.อ. 3/
257/170) ทมถะและสมถะที่สูงสุด คือปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติอันเป็นโลกุตตระ (สารตฺถ. ฏีกา. 3/
257/363)
3 หมายถึง เวลาผ่านไป 3 พรรษา นับจากวันที่บรรพชาเป็นสามเณร (วิ.อ. 3/257/170)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :34 }