เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 157. โสณกุฏิกัณณวัตถุ
157. โสณกุฏิกัณณวัตถุ1
ว่าด้วยพระโสณกุฏิกัณณะ

เรื่องพระมหากัจจานะ
[257] สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะพักอยู่ที่ภูเขาปปาตะ2 เมืองกุรุรฆระ
ในแคว้นอวันตี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณกุฏิกัณณะ เป็นอุปัฏฐากของท่านพระ
มหากัจจานะ ต่อมา เขาเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมตามที่พระ
คุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’
กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนมาบวช
เป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกับอุบาสกโสณกุฏิกัณณะ
ดังนี้ว่า “การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งต้องนอนผู้เดียว3 บริโภคอาหารมื้อเดียวจน
ตลอดชีพทำได้ยาก แต่เอาเถอะ โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ที่บ้านนั้นแหละ จง
หมั่นประพฤติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้อง
นอนผู้เดียว บริโภคอาหารมื้อเดียวตามเวลาที่เหมาะสมเถิด”4
ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อบรรพชาของอุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ระงับไป

เชิงอรรถ :
1 โสณสูตร (ขุ.อุ. 25/46/171)
2 ภูเขาปวัตตะ (ขุ.อ. 25/46/171)
3 นอนผู้เดียว มิได้หมายถึงแต่เพียงอิริยาบถนอนอย่างเดียว แต่หมายถึงอิริยาบถอีก 3 อิริยาบถด้วย คือ
ยืนผู้เดียว เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว ซึ่งจัดเป็นกายวิเวก (สารตฺถ.ฏีกา 3/253/360)
4 คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่อุบาสกจะพึงหมั่นประพฤติในส่วนเบื้องต้น คือ ศีล 5 ที่จะต้องรักษาประจำ
ศีล 8 ที่พึงรักษาในวันอุโบสถ 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ และศีล 10 (ถ้าสามารถ)และเจริญสมาธิ
ปัญญาตามเหมาะสมแก่ศีลที่รักษานั้น ๆ (สารตฺถ.ฏีกา 3/257/361)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :32 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [5. จัมมขันธกะ] 158. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
แม้ครั้งที่ 2 อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่
ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ
ธรรมตามที่พระคุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครอง
เรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่
กระทำได้ง่าย’ กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจาก
เรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะจึงให้อุบาสกโสณกุฏิกัณณะบวช
ก็สมัยนั้น อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ท่านพระมหากัจจานะจัดหาภิกษุ
สงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ 10 รูป ได้ยากลำบาก เวลาล่วงไปถึง
3 ปี จึงให้ท่านโสณะอุปสมบทได้

158. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ว่าด้วยอาณัตติกพจน์ของท่านพระมหากัจจานะ 5 ประการ
สมัยนั้น ท่านพระโสณะออกพรรษาแล้ว หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความ
คิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระ
ลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไปเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ครั้นเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่านพระมหา
กัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระโสณะได้กล่าวกับท่านพระ
มหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิด
ความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไป
เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :33 }