เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [9. จัมเปยยขันธกะ] 234. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ
เพราะเรื่องที่ไม่สมควร เพราะเหตุที่ไม่สมควรเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การทำอย่าง
นี้มิได้เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรง
แสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์ไม่พึงลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ เพราะเรื่องไม่สมควร เพราะเหตุไม่สมควร สงฆ์หมู่ใด
ลงอุกเขปนียกรรม ต้องอาบัติทุกกฏ”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้ลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งซบ
ศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ทั้งหลายได้กระทำความผิดเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ที่ได้ลงอุกเขปนีย
กรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ เพราะเรื่องที่ไม่ควร เพราะเหตุไม่สมควร ขอพระ
ผู้มีพระภาคทรงโปรดรับการขอขมา เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เอาเถิด ภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอทั้งหลายได้
กระทำความผิดเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ที่ได้ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุผู้บริสุทธิ์
ไม่มีอาบัติ เพราะเรื่องที่ไม่ควร เพราะเหตุไม่สมควร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่
พวกเธอเห็นความผิดเป็นความผิดแล้ว แก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรายอมรับ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะการที่บุคคลเห็นความผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป
นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :265 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [9. จัมเปยยขันธกะ] 235. อธัมมวัคคาทิกัมมกถา
235. อธัมมวัคคาทิกัมมกถา
ว่าด้วยกรรมที่แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมเป็นต้น

เรื่องภิกษุชาวกรุงจัมปาทำกรรมแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรมเป็นต้น
[382] สมัยนั้น พวกภิกษุในกรุงจัมปาทำกรรมเช่นนี้ คือ ทำกรรม
แบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม ทำกรรมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชอบธรรม ทำกรรม
แบ่งพวกโดยชอบธรรม ทำกรรมแบ่งพวกโดยธรรมปฏิรูป1 ทำกรรมพร้อมเพรียง
กันโดยธรรมปฏิรูป ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง ภิกษุรูป
เดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ 2 รูปบ้าง ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ
หลายรูปบ้าง ภิกษุรูปเดียวลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง ภิกษุ 2 รูปลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง ภิกษุ 2 รูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุ 2 รูปบ้าง
ภิกษุ 2 รูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุหลายรูปบ้าง ภิกษุ 2 รูปลงอุกเขปนียกรรม
สงฆ์บ้าง ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปเดียวบ้าง ภิกษุหลายรูปลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุ 2 รูปบ้าง ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมภิกษุหลายรูปบ้าง
ภิกษุหลายรูปลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมสงฆ์บ้าง

เชิงอรรถ :
1 ธรรมปฏิรูป แปลว่า ธรรมปลอม,ธรรมเทียม,ธรรมที่ไม่แท้ ในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงสัทธรรมที่ไม่แท้
ที่ชื่อว่าสัทธรรมปฏิรูป 2 อย่างคือ
1. อธิคมสัทธรรมปฏิรูป คือ ธรรมที่เป็นเหตุเศร้าหมองแห่งวิปัสสนาญาณ เช่น โอภาส ญาณ ปีติ
ปัสสัทธิ สุข เป็นต้น ที่เป็นเหตุให้จิตหวั่นไหว
2. ปริยัตติสัทธรรมปฏิรูป ได้แก่ สิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธพจน์ คือ คัมภีร์คุฬหวินัย คัมภีร์คุฬห
เวสสันดรชาดก คัมภีร์คุฬหมโหสธชาดก คัมภีร์วรรณปิฎก คัมภีร์องคุลิมาลปิฎก คัมภีร์เวทัลลปิฎก
คัมภีร์รัฏฐปาลคัชชิตะ คัมภีร์อาฬวกคัชชิตะ ที่ไม่ได้ยกขึ้นสู่การสังคายนา 3 ครั้ง อยู่นอกเหนือจาก
กถาวัตถุ 5 เหล่านี้ ธาตุกถา อารัมมณกถา อสุภกถา ญาณกถา วิชชากรัณฑกะ (สํ.นิ.อ. 2/156/
223-224)เป็นคำสอนของอธรรมวาทีนิกายต่าง ๆ ที่แสดงช่วงก่อนสังคายนาครั้งที่ 3 และมีการสอบ
ถามเมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ 3 ชื่อคัมภีร์เหล่านี้มีกล่าวถึงในอรรถกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :266 }