เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [9. จัมเปยยขันธกะ] 234. กัสสปโคตตภิกขุวัตถุ
การออกปากขอย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของคนทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราไม่พึงจัดแจง
ข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหาร” แล้วเลิกจัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหาร
ลำดับนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปรึกษากันว่า “ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้
ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้จัดแจงน้ำสรง แม้ข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหารก็จัดแจงให้
เวลานี้ ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ไม่จัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหารแล้ว ท่าน
ทั้งหลาย บัดนี้ภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ไม่ดีเสียแล้ว เอาเถอะพวกเราจงลง
อุกเขปนียกรรมภิกษุที่อยู่ประจำในอาวาสรูปนี้ออกไป” ครั้งนั้น ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น
ประชุมกัน ได้กล่าวกะภิกษุกัสสปโคตรนั้นดังนี้ว่า “ท่าน เมื่อก่อน ท่านจัดแจง
น้ำสรง แม้ข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหารก็จัดให้ เวลานี้ไม่จัดแจงข้าวต้มของเคี้ยวภัตตาหาร
เสียแล้ว ท่านต้องอาบัติแล้ว ท่านเห็นอาบัตินั้นไหม”
ภิกษุกัสสปโคตรกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่พึงเห็น”
ครั้งนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะได้ลงอุกเขปนียกรรมภิกษุกัสสปโคตร เพราะการ
ไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ
ลำดับนั้น ภิกษุกัสสปโคตรได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราไม่รู้เรื่องนี้ว่า ‘นั่นเป็นอาบัติ
หรือไม่เป็นอาบัติ เราต้องอาบัติหรือไม่ต้องอาบัติ เราถูกลงอุกเขปนียกรรม หรือ
ไม่ถูกลงอุกเขปนียกรรม ด้วยกรรมที่ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม ถูกต้องหรือไม่
ถูกต้อง ควรแก่เหตุหรือไม่ควรแก่เหตุ’ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเดินทางไปกรุงจัมปา
แล้วกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเกี่ยวกับเรื่องนั้น”
ครั้งนั้น ภิกษุกัสสปโคตรเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวร เดินทางไปกรุงจัมปา
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง
ณ ที่สมควร

พุทธประเพณี
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย
นั่นเป็นพุทธประเพณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :261 }