เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 225. มตสัจตกกถา
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือจีวรและ
บาตรของเธอ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณร
ไข้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

ภิกษุสามเณรช่วยกันพยาบาลไข้
[369] สมัยนั้น ภิกษุและสามเณรช่วยกันพยาบาลภิกษุไข้ เธอได้รับการ
พยาบาลอยู่ได้มรณภาพลง ลำดับนั้น ภิกษุผู้พยาบาลไข้ได้มีความคิดดังนี้ว่า “เรา
พึงให้ส่วนจีวรแก่สามเณรผู้พยาบาลไข้อย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนจีวรแก่
สามเณรผู้พยาบาลไข้เท่า ๆ กัน”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีเครื่องบริขารมาก มรณภาพลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้า
ของบาตรและจีวร แต่ผู้พยาบาลไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ บรรดาสิ่งของเหล่านั้น เราอนุญาต
ให้สงฆ์พร้อมใจกันแบ่งลหุภัณฑ์และลหุบริขาร ส่วนครุภัณฑ์และครุบริขาร เป็นของ
สงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศทั้งที่เดินทางมาและยังไม่มา เป็นของที่ไม่ควรแจกไม่ควรแบ่ง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :245 }