เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 219. วิสาขาวัตถุ
คนมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่เขา
ปูไว้พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตารื่นเริงบันเทิงใจว่า “น่าอัศจรรย์จริง ผู้เจริญ
ทั้งหลาย ไม่เคยปรากฏ ผู้เจริญทั้งหลาย พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมี
อานุภาพมาก เมื่อห้วงน้ำไหลนองไปแค่เข่าบ้าง เมื่อห้วงน้ำไหลนองไปแค่สะเอว
บ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุสักรูปเดียวก็ไม่เปียกน้ำเลย” จึงได้ประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือตนเอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
กราบทูลว่า “หม่อมฉันกราบทูลขอพร 8 ประการ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา”
นางวิสาขากราบทูลว่า “หม่อมฉันทูลขอพรที่เหมาะสมและไม่มีโทษ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จงพูดมาเถิด วิสาขา”

เรื่องนางวิสาขาขอพรเพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นต้น
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันประสงค์
จะถวายผ้าวัสสิกสาฎก ถวายอาคันตุกภัต ถวายคมิกภัต ถวายคิลานภัต ถวาย
คิลานุปัฏฐากภัต ถวายคิลานเภสัช ถวายธุวยาคู1แก่พระสงฆ์ และถวายผ้า
อาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต”

เชิงอรรถ :
1 ผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าอาบน้ำฝน
อาคันตุกภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุที่มาขอพักอาศัย ไม่ใช่อยู่ประจำ
คมิกภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุที่เตรียมจะเดินทางไป
คิลานภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุไข้
คิลานุปัฏฐากภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้
คิลานเภสัช คือ เภสัชสำหรับภิกษุไข้
ธุวยาคู คือ ข้าวต้มที่ถวายเป็นประจำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :221 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 219. วิสาขาวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงขอพร 8
ประการกับตถาคต”
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งสาวใช้
ไปว่า ‘ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปสู่อารามแล้วบอกเวลาว่า ‘ได้เวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว’ ครั้นนางไปสู่อารามได้เห็นภิกษุเอาจีวรวางไว้ สรงสนานกาย
ด้วยน้ำฝนอยู่จึงเข้าใจว่า ‘ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกาย
ด้วยน้ำฝน’ จึงกลับเข้ามาหาหม่อมฉันบอกดังนี้ว่า ‘แม่เจ้า ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม
มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำฝน”
1. การเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายผ้าวัสสิกสาฎกแก่พระสงฆ์จน
ตลอดชีวิต
2. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักที่โคจร
บิณฑบาตลำบาก ภิกษุอาคันตุกะนั้นฉันอาคันตุกภัตของหม่อมฉัน
แล้ว พอชำนาญทาง รู้จักที่โคจร จะเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก
หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายอาคันตุกภัตแก่
พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
3. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง มัวแสวงหาภัตตาหาร
เพื่อตนอยู่ จะพลาดจากหมู่เกวียน หรือถึงที่ที่ตนจะไปอยู่เมื่อ
พลบค่ำ จะเดินทางลำบาก ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางนั้นฉัน
คมิกภัตของหม่อมฉันแล้วจะไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือไม่ถึงที่ที่
ตนจะไปอยู่ทันเวลา จะได้เดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคมิกภัตแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
4. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธ
จะกำเริบหรือจะถึงมรณภาพได้ ภิกษุไข้นั้นฉันคิลานภัตของหม่อม
ฉันแล้ว อาพาธจะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็น
อำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคิลานภัตแก่พระสงฆ์จน
ตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :222 }