เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 213. จีวรปฏิคคาหกสัมมติกถา
ก็สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร รับจีวรแล้วทิ้งไว้ในที่นั้นเองแล้ว
หลีกไป จีวรจึงเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติ
5 อย่าง เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร คือ
1. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ 2. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
3. ไม่ลำเอียงเพราะหลง 4. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
5. รู้จักจีวรที่เก็บไว้และจีวรที่ยังมิได้เก็บไว้”

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุ
ชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :204 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 214. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
214. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
ว่าด้วยการสมมติเรือนคลังเป็นต้น

เรื่องสมมติเรือนคลัง
[343] สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ได้เก็บจีวรไว้ในมณฑปบ้าง
ที่โคนไม้บ้าง ที่ชายคาบ้าง ที่กลางแจ้งบ้าง จีวรถูกหนูและปลวกกัดกิน
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติเรือนคลังที่สงฆ์
จำนงหวังคือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ

วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติเรือนคลัง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงสมมติวิหารชื่อนี้
ให้เป็นเรือนคลัง นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง ท่าน
รูปใดเห็นด้วยกับการสมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์สมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลังแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น จึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องเจ้าหน้าที่รักษาผ้าในเรือนคลัง
สมัยนั้น จีวรในเรือนคลังของสงฆ์ไม่มีผู้ดูแล


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :205 }