เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [9. จัมเปยยขันธกะ] 206. เสฏฐิปุตตวัตถุ
อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น บุตรเศรษฐีนั้น จึงซูบผอม หมองคล้ำ
ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
ต่อมา เศรษฐีชาวกรุงพาราณสี คิดว่า “บุตรของเราเจ็บป่วยถึงเพียงนี้
ข้าวต้มที่เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ
ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
อย่ากระนั้นเลย เราควรไปกรุงราชคฤห์ กราบทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระราชา
เพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา” แล้วเดินทางไปกรุงราชคฤห์เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐกราบทูลว่า “ขอเดชะ บุตรของข้าพระองค์เจ็บป่วยขนาดข้าวต้มที่
เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะ
ไม่สะดวก ดังนั้น เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง ขอ
ประทานวโรกาสเถิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดรับสั่งนายแพทย์ชีวกเพื่อจะได้
รักษาบุตรของข้าพระองค์ด้วยเถิด”
ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ไปเถิด
ชีวก เจ้าเดินทางไปกรุงพาราณสี จงรักษาบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เดินทางไปกรุงพาราณสี เข้า
ไปหาบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี ตรวจดูอาการของเขาแล้วให้คนออกไป ขึงม่าน
มัดไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ต่อหน้าแล้วผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้ออกมาแสดง
แก่ภรรยาว่า “เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ข้าวต้มที่เธอดื่มจึงไม่ย่อยไปด้วยดี
อาหารที่รับประทานจึงไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น บุตร
เศรษฐีนี้จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง” แล้วตัดเนื้องอกใน
ลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับไว้ตามเดิมแล้วเย็บหนังท้องทายาสมานแผล ต่อมาไม่
นานนัก บุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีจึงหายป่วยเป็นปกติ
ต่อมาเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีคิดว่า “บุตรของเราหายป่วยแล้ว” จึงให้รางวัล
แก่ชีวกโกมารภัจเป็นเงิน 16,000 กหาปณะ ชีวกโกมารภัจรับเงินจำนวนนั้นแล้ว
เดินทางกลับกรุงราชคฤห์ตามเดิม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :190 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [9. จัมเปยยขันธกะ] 207. ปัชโชตราชวัตถุ
207. ปัชโชตราชวัตถุ
ว่าด้วยพระเจ้าปัชโชต

เรื่องรักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าปัชโชต
[334] สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรเป็นโรคผอมเหลือง
นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษาก็ไม่อาจทำให้โรคหายได้ ได้เงิน
ไปเป็นจำนวนมาก
สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตทรงส่งทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธรัฐใจความว่า “หม่อมฉันเจ็บป่วยมีอาการอย่างนี้ ขอประทานวโรกาสเถิด
พระองค์โปรดส่งหมอชีวกให้มารักษาหม่อมฉัน”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ไปเถิดชีวก เจ้าเดิน
ทางไปกรุงอุชเชนีจงถวายการรักษาพระเจ้าปัชโชต”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเดินทางไปกรุงอุชเชนี เข้าไปเฝ้า
พระเจ้าปัชโชต ตรวจพระอาการแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์จะหุงเนยใส
ให้พระองค์เสวย”
พระเจ้าปัชโชตตรัสห้ามว่า “อย่าเลยชีวก ท่านจงรักษาเราด้วยวิธีที่ไม่ต้องใช้
เนยใสก็หายได้ เพราะเราเกลียดเนยใส”
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจคิดว่า “พระราชานี้ทรงประชวรถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีเนยใส
เราก็ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายเป็นปกติ เอาละเราควรหุงเนยใสให้มีสี กลิ่น รส
เหมือนน้ำฝาด” แล้วให้หุงเนยใสด้วยยาชนิดต่าง ๆ ทำให้มีสี กลิ่น รสเหมือนน้ำฝาด
สมัยนั้น ชีวกโกมารภัจมีความคิดดังนี้ว่า “เนยใสที่ท้าวเธอเสวยแล้ว เมื่อย่อย
ไปจะทำให้เรอ พระราชาพระองค์นี้ทรงพิโรธก็จะพึงรับสั่งให้ฆ่าเราได้ ทางที่ดีเราควร
กราบทูลลาไว้เสียก่อน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :191 }