เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 202. ชีวกวัตถุ
[328] ก็เวลานั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัยกำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอด
พระเนตรเห็นทารกนั้นถูกฝูงกาแวดล้อม จึงตรัสถามคนทั้งหลายว่า “พนาย ฝูงกา
รุมล้อมอะไร”
คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ทารกพระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “เขายังมีชีวิตอยู่หรือ”
คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกไปในพระราชวังของเรามอบให้
แม่นมดูแล”
คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาแล้ว นำทารกนั้นไปวังเจ้าชายมอบให้แม่นมว่า
“โปรดเลี้ยงไว้ด้วย” แล้วตั้งชื่อทารกนั้นว่า “ชีวก” เพราะบ่งถึงคำว่า “ยังมีชีวิตอยู่”
ตั้งชื่อว่า “โกมารภัจ” เพราะเป็นผู้ที่เจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้
ไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจ เจริญวัยรู้เดียงสา เขาเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัยกราบ
ทูลถามว่า “ใครคือบิดามารดาของเกล้ากระหม่อม พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า “พ่อชีวก แม้ตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า แต่เราคือ
บิดาของเจ้า เพราะเราให้เลี้ยงเจ้าไว้”
ชีวกโกมารภัจคิดว่า “คนที่ไม่มีศิลปะจะเข้าพึ่งราชสกุลนี้ได้ยาก อย่ากระนั้น
เลย เราควรเรียนศิลปวิทยาไว้”

เรื่องชีวกเดินทางไปกรุงตักกสิลา
[329] สมัยนั้น นายแพทย์ทิศาปาโมกข์1ตั้งสำนักอยู่ ณ กรุงตักกสิลา
ชีวกโกมารภัจไม่กราบทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางรอนแรมไปจนถึงกรุงตักกสิลา
เข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้วบอกว่า “ท่านอาจารย์ ผมใคร่จะศึกษาศิลปวิทยา”

เชิงอรรถ :
1 ทิศาปาโมกข์ หมายถึง มีชื่อเสียง ปรากฏเป็นที่รู้จัก หรือเป็นหัวหน้าอยู่ในทิศทั้งปวง (วิ.อ. 3/329/
202)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :181 }