เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 202. ชีวกวัตถุ
ว่า “ขอเดชะ กรุงเวสาลีเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก
มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท 7,707 เรือนยอด 7,707
สวนดอกไม้ 7,707 สระโบกขรณี 7,707 และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง
และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า
ตัวถึงคืนละ 50 กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์
และมีความงดงามเป็นพิเศษ ขอเดชะ แม้ชาวเราตั้งตำแหน่งหญิงงามเมืองขึ้นบ้าง
ก็จะเป็นการดี”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งว่า “พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงหา
เด็กสาวผู้มีความงามอย่างนั้นที่ควรคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง”

เรื่องบุตรของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดี
ก็สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีเด็กสาวชื่อสาลวดีมีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิว
พรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์จึงคัดเลือกเธอให้เป็นหญิงงามเมือง
เมื่อเธอได้รับเลือกไม่นานนักก็เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี
คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ 100
กหาปณะ ต่อมาเธอมีครรภ์จึงคิดว่า “ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษ
ถ้าใครทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจะเสื่อมหมด อย่ากระนั้นเลย เราควรแจ้ง
ว่าเราป่วย” แล้วได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า “นายประตู ท่านอย่าอนุญาตให้ชายใดเข้ามา
ถ้ามีคนถามหาดิฉัน ก็จงตอบให้เขาทราบว่าดิฉันเป็นไข้”
คนเฝ้าประตูนั้นรับคำของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดีว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น
ต่อมา เมื่อนางมีครรภ์ครบกำหนดคลอดจึงได้คลอดบุตรชาย ได้กำชับหญิงรับใช้
ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงวางทารกคนนี้ในกระด้งเก่า ๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองขยะ”
หญิงรับใช้รับคำแล้ววางทารกลงในกระด้งเก่า ๆ นำออกไปทิ้งที่กองขยะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :180 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 202. ชีวกวัตถุ
[328] ก็เวลานั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัยกำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอด
พระเนตรเห็นทารกนั้นถูกฝูงกาแวดล้อม จึงตรัสถามคนทั้งหลายว่า “พนาย ฝูงกา
รุมล้อมอะไร”
คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ทารกพระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “เขายังมีชีวิตอยู่หรือ”
คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกไปในพระราชวังของเรามอบให้
แม่นมดูแล”
คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาแล้ว นำทารกนั้นไปวังเจ้าชายมอบให้แม่นมว่า
“โปรดเลี้ยงไว้ด้วย” แล้วตั้งชื่อทารกนั้นว่า “ชีวก” เพราะบ่งถึงคำว่า “ยังมีชีวิตอยู่”
ตั้งชื่อว่า “โกมารภัจ” เพราะเป็นผู้ที่เจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้
ไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจ เจริญวัยรู้เดียงสา เขาเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัยกราบ
ทูลถามว่า “ใครคือบิดามารดาของเกล้ากระหม่อม พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า “พ่อชีวก แม้ตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า แต่เราคือ
บิดาของเจ้า เพราะเราให้เลี้ยงเจ้าไว้”
ชีวกโกมารภัจคิดว่า “คนที่ไม่มีศิลปะจะเข้าพึ่งราชสกุลนี้ได้ยาก อย่ากระนั้น
เลย เราควรเรียนศิลปวิทยาไว้”

เรื่องชีวกเดินทางไปกรุงตักกสิลา
[329] สมัยนั้น นายแพทย์ทิศาปาโมกข์1ตั้งสำนักอยู่ ณ กรุงตักกสิลา
ชีวกโกมารภัจไม่กราบทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางรอนแรมไปจนถึงกรุงตักกสิลา
เข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้วบอกว่า “ท่านอาจารย์ ผมใคร่จะศึกษาศิลปวิทยา”

เชิงอรรถ :
1 ทิศาปาโมกข์ หมายถึง มีชื่อเสียง ปรากฏเป็นที่รู้จัก หรือเป็นหัวหน้าอยู่ในทิศทั้งปวง (วิ.อ. 3/329/
202)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :181 }