เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 202. ชีวกวัตถุ
8. จีวรขันธกะ
202. ชีวกวัตถุ
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจ

เรื่องคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์พบหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
[326] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น กรุงเวสาลีเป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์
มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท
7,707 เรือนยอด 7,707 สวนดอกไม้ 7,707 สระโบกขรณี 7,707 และ
มีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี รูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง
เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพา
เธอไปร่วมอภิรมย์ด้วยต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ 50 กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลี
นี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์และมีความงดงามเป็นพิเศษ
ครั้งนั้น คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์ เดินทางไปกรุงเวสาลีด้วยธุระจำเป็น
บางอย่าง ได้พบเห็นกรุงเวสาลีที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก
มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท 7,707 เรือนยอด 7,707
สวนดอกไม้ 7,707 สระโบกขรณี 7,707 และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง
และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า
ตัวถึงคืนละ 50 กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์
และมีความงดงามเป็นพิเศษ
[327] ครั้นคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์เสร็จธุระที่จำเป็นในกรุงเวสาลีแล้ว
เดินทางกลับมายังกรุงราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้กราบทูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :179 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [8. จีวรขันธกะ] 202. ชีวกวัตถุ
ว่า “ขอเดชะ กรุงเวสาลีเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก
มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท 7,707 เรือนยอด 7,707
สวนดอกไม้ 7,707 สระโบกขรณี 7,707 และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง
และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า
ตัวถึงคืนละ 50 กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์
และมีความงดงามเป็นพิเศษ ขอเดชะ แม้ชาวเราตั้งตำแหน่งหญิงงามเมืองขึ้นบ้าง
ก็จะเป็นการดี”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งว่า “พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงหา
เด็กสาวผู้มีความงามอย่างนั้นที่ควรคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง”

เรื่องบุตรของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดี
ก็สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีเด็กสาวชื่อสาลวดีมีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิว
พรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์จึงคัดเลือกเธอให้เป็นหญิงงามเมือง
เมื่อเธอได้รับเลือกไม่นานนักก็เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี
คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ 100
กหาปณะ ต่อมาเธอมีครรภ์จึงคิดว่า “ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษ
ถ้าใครทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจะเสื่อมหมด อย่ากระนั้นเลย เราควรแจ้ง
ว่าเราป่วย” แล้วได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า “นายประตู ท่านอย่าอนุญาตให้ชายใดเข้ามา
ถ้ามีคนถามหาดิฉัน ก็จงตอบให้เขาทราบว่าดิฉันเป็นไข้”
คนเฝ้าประตูนั้นรับคำของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดีว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น
ต่อมา เมื่อนางมีครรภ์ครบกำหนดคลอดจึงได้คลอดบุตรชาย ได้กำชับหญิงรับใช้
ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงวางทารกคนนี้ในกระด้งเก่า ๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองขยะ”
หญิงรับใช้รับคำแล้ววางทารกลงในกระด้งเก่า ๆ นำออกไปทิ้งที่กองขยะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :180 }