เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [7. กฐินขันธกะ] 187. กฐินานุชานนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกหรือ และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระองค์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน
อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ขอประทาน
วโรกาส พวกข้าพระองค์ มีประมาณ 30 รูป เป็นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางมาให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงจำพรรษาที่เมืองสาเกตระหว่างทาง
พวกข้าพระองค์รัญจวนใจ อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า ‘พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ
พวกเราห่างเพียง 6 โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์’ ครั้นล่วงไตรมาส
พวกข้าพระองค์ออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยังตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดิน
เต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ เหน็ดเหนื่อย เดินทางไกลมา
พระพุทธเจ้าข้า”

เรื่องอานิสงส์กฐิน 5 อย่าง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว
กรานกฐิน1 ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วจะได้อานิสงส์ 5 อย่าง คือ

1. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา 2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
3. ฉันคณโภชนะได้ 4. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
5. พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ 5 อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 กรานกฐิน เป็นวิธีการตัดเย็บจีวร โดยขึงไม้กฐิน(ไม้สะดึง) แล้วเอาผ้าที่เย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้กฐิน เย็บ
เสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :146 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [7. กฐินขันธกะ] 187. กฐินานุชานนา
เรื่องวิธีกรานกฐินและญัตติทุติยกรรมวาจาสำหรับกรานกฐิน
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[307] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์
พร้อมกันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้
ผ้ากฐินนี้แก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่าน
รูปนั้นพึงทักท้วง
ผ้ากฐินนี้อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องกฐินไม่เป็นอันกราน
[308] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างนี้ ไม่เป็นอันกรานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ก็กฐินย่อมไม่เป็นอันกรานอย่างไร กฐินย่อมไม่เป็นอันกราน
อย่างนี้ คือ
1. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงมีรอยขีด
2. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงซักผ้า
3. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงกะผ้า
4. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงตัดผ้า
5. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเนาผ้า
6. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเย็บผ้า
7. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
8. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำรังดุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :147 }