เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [7. กฐินขันธกะ] 187. กฐินานุชานนา
7. กฐินขันธกะ
187. กฐินานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้กรานกฐิน

เรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ 30 รูป
[306] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ1 จำนวน 30
รูป ทั้งหมดถืออารัญญิกธุดงค์ ถือปิณฑปาติกธุดงค์และถือเตจีวริกธุดงค์ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้วันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางไปให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงเข้าพรรษาในเมืองสาเกตระหว่างทาง
ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะเหล่านั้นมีใจรัญจวน อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า “พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ พวกเราห่างเพียง 6 โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้า
พระองค์”
ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยัง
ตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดินชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน พวกเธอมีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ
เหน็ดเหนื่อย เดินทางเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่สมควร
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสนทนาปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะ
ทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี

เชิงอรรถ :
1 เมืองปาเฐยยะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกแคว้นโกศล คำว่า “ปาเฐยยกะ” เป็นชื่อของพระภัททวัคคีย์เถระ
ทั้งหลายซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกับพระเจ้าโกศล ในบรรดาท่านเหล่านั้น ผู้เป็นพี่ใหญ่ เป็นพระอนาคามี
คนที่เป็นน้องสุดท้อง เป็นพระโสดาบัน ไม่มีใครเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชน (วิ.อ. 3/306/191) ว่า
“ปาเวยยกะ” ก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :145 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [7. กฐินขันธกะ] 187. กฐินานุชานนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกหรือ และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระองค์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน
อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ขอประทาน
วโรกาส พวกข้าพระองค์ มีประมาณ 30 รูป เป็นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางมาให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงจำพรรษาที่เมืองสาเกตระหว่างทาง
พวกข้าพระองค์รัญจวนใจ อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า ‘พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ
พวกเราห่างเพียง 6 โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์’ ครั้นล่วงไตรมาส
พวกข้าพระองค์ออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยังตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดิน
เต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ เหน็ดเหนื่อย เดินทางไกลมา
พระพุทธเจ้าข้า”

เรื่องอานิสงส์กฐิน 5 อย่าง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว
กรานกฐิน1 ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วจะได้อานิสงส์ 5 อย่าง คือ

1. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา 2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
3. ฉันคณโภชนะได้ 4. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
5. พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ 5 อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 กรานกฐิน เป็นวิธีการตัดเย็บจีวร โดยขึงไม้กฐิน(ไม้สะดึง) แล้วเอาผ้าที่เย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้กฐิน เย็บ
เสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :146 }