เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 185. จตุมหาปเทสกถา
เรื่องปลูกพืช
[304] สมัยนั้น เขาปลูกพืชของสงฆ์ในที่ของบุคคล ปลูกพืชของบุคคลในที่
ของสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่ปลูกในที่ของบุคคล
พึงให้ส่วนแบ่งแล้วบริโภคได้ พืชของบุคคลที่ปลูกในที่ของสงฆ์พึงให้ส่วนแบ่งแล้ว
บริโภคได้”

185. จตุมหาปเทสกถา
ว่าด้วยมหาปเทส 4
[305] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเกิดความยำเกรงอยู่ในข้อบัญญัติบางอย่างว่า
“สิ่งใดหนอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งใดหนอไม่ทรงอนุญาตไว้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคได้ประทานมหาปเทสไว้ 4 ข้อ คือ
1. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร1

เชิงอรรถ :
1 ตัวอย่างเช่น ธัญชาติ 7 อย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หญ้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวเหนียว
ข้าวฟ่าง (วิ.อ. 1/104/368) เป็นสิ่งที่ทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวันใหม่ ส่วนมหาผล
9 อย่าง คือ ตาล มะพร้าว ผลขนุน ขนุนสำปะลอ บวบ ฟักเขียว แตงกวา แตงโม ฟักทอง
รวมทั้งอปรัณณชาติทั้งหมด เช่น ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังภัตตาหาร แม้จะไม่ได้ทรงห้ามไว้
แต่อนุโลมเข้ากับธัญชาติ 7 อย่าง เพราะฉะนั้น จึงทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวัน
ใหม่เช่นกัน เข้ากับหลักมหาประเทสข้อ 1 และข้อ 2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :139 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 185. จตุมหาปเทสกถา
2. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร1
3. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
4. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร

เรื่องทรงอนุญาตกาลิกระคนกัน
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันดังนี้ว่า “ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิก
ควรหรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิก
ระคนกับยามกาลิกควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกควรหรือไม่
ควรหนอ”2
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับ
ประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในเวลาวิกาล

เชิงอรรถ :
1 พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน (น้ำดื่ม 8 ชนิด) ส่วนน้ำดื่มที่นับเนื่องในน้ำอัฏฐบาน 8 ชนิดนั้น
เช่น น้ำหวาย น้ำผลมะงั่ว น้ำต้นเล็บเหยี่ยว และน้ำผลไม้เล็กเป็นต้น แม้จะไม่ได้ทรงอนุญาตไว้แต่อนุโลม
เข้ากับน้ำอัฏฐบาน เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันอนุญาตด้วย (วิ.อ. 3/305/188-189)
2 กาลิก แปลว่า เนื่องด้วยกาล ขึ้นกับกาล เป็นชื่อของสิ่งที่จะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติ
ให้ภิกษุรับประเคนเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น 4 อย่าง คือ
1. ยาวกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้
ขนมต่าง ๆ
2. ยามกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ปานะ (น้ำดื่ม) 8 ชนิด หรือ
น้ำอัฏฐบาน ได้แก่ (1) น้ำมะม่วง (2) น้ำหว้า (3) น้ำกล้วยมีเมล็ด (4) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด (5) น้ำมะซาง
(6) น้ำลูกจันทน์ (หรือองุ่น) (7) น้ำเหง้าอุบล (8) น้ำมะปราง (หรือลิ้นจี่)
3. สัตตาหกาลิก ของรับประเคนไว้แล้ว ฉันได้ภายในเวลา 7 วัน คือ เภสัชทั้ง 5 ได้แก่ (1) เนยใส
(2) เนยข้น (3) น้ำมัน (4) น้ำผึ้ง (5) น้ำอ้อย
4. ยาวชีวิก ของรับประเคนแล้วฉันได้ตลอด ไม่จำกัดเวลา คือ สิ่งของที่เป็นยารักษาโรค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :140 }