เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 17. ปณามิตกถา
อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เราห้ามการอุปสมบท
ด้วยไตรสรณคมน์ที่เราได้อนุญาตไว้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วย
ญัตติจตุตถกรรม

วิธีให้อุปสมบทและกรรมวาจาให้อุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้อุปสมบทอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[70] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ
(ผู้ขอบวชเป็นภิกษุ)ของท่านผู้มีชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท
มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของ
ท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ 3 ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :98 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 17. ปณามิตกถา
ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องภิกษุประพฤติไม่สมควร
[71] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพออุปสมบทแล้วได้ประพฤติไม่สมควร ภิกษุ
ทั้งหลายพากันกล่าวห้ามปรามว่า “อาวุโส ท่านอย่าได้กระทำอย่างนั้น เพราะการ
กระทำอย่างนั้นไม่ควร”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “กระผมมิได้ขอร้องท่านผู้มีอายุทั้งหลายว่า ‘จงให้กระผม
อุปสมบท’ ท่านทั้งหลายมิได้รับการขอร้องจากกระผม ให้กระผมอุปสมบททำไม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมิได้รับการขอร้อง ไม่พึงให้
กุลบุตรอุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ภิกษุผู้ได้รับการขอร้องให้กุลบุตรอุปสมบทได้

วิธีขอการอุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปสัมปทาเปกขะพึงขออย่างนี้
อุปสัมปทาเปกขะพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวคำขอการอุปสมบทอย่างนี้ว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอการอุปสมบทต่อสงฆ์ ขอสงฆ์โปรดอนุเคราะห์ยกข้าพเจ้า
ขึ้นเถิด1 เจ้าข้า”
พึงขอแม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ 3 ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า

เชิงอรรถ :
1 ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด หมายถึงยกขึ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล ในที่นี้หมายถึงยกขึ้นจากความเป็น
สามเณร ให้ตั้งอยู่ในความเป็นภิกษุ (วิ.อ. 3/71/41)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :99 }