เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 15. อุปัชฌายวัตตกถา
พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด เช็ดถู
ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความไม่ยินดี สัทธิวิหาริกพึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความรำคาญ สัทธิวิหาริกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความเห็นผิด สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องอาบัติหนัก1 ควรแก่ปริวาส สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อุปัชฌาย์”

เชิงอรรถ :
1 อาบัติหนัก ในที่นี้หมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :85 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 15. อุปัชฌายวัตตกถา
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอุปัชฌาย์เข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่มานัต1 สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อุปัชฌาย์”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่อัพภาน2 สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอุปัชฌาย์”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม3 คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม4แก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌาย์หรือ
พึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” หรือว่าอุปัชฌาย์ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึง
ทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌาย์พึงกลับประพฤติชอบ
พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”

เชิงอรรถ :
1 มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส แปลว่า นับ หมายถึงนับ
ราตรี 6 ราตรี ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสเท่าวันที่ปกปิดก่อน จึงจะขอ
มานัตได้ แต่ถ้าไม่ได้ปกปิดไว้ สามารถขอมานัตได้ แล้วประพฤติมานัต 6 ราตรี (กงฺขา.อ. 178)
2 อัพภาน เป็นชื่อวุฏฐานวิธีที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ภิกษุผู้ประพฤติมานัตครบ 6 ราตรีแล้ว ขออัพภาน
จากสงฆ์ 20 รูป เมื่อสงฆ์สวดอัพภานแล้ว ถือว่าภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสนั้นบริสุทธิ์ สมควรอยู่
ร่วมกับภิกษุสงฆ์ต่อไป (กงฺขา.อ. 178-179)
3 ทำกรรม หมายถึงลงโทษ
4 ตัชชนียกรรม คือ การขู่, การปราม (วิ.ม. 5/407-408/204-205)
นิยสกรรม คือ การถอดยศ, การปลดออกจากตำแหน่ง (วิ.ม. 5/412/207,423/212)
ปัพพาชนียกรรม คือ การไล่ออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด (วิ.ม. 5/413/208)
ปฏิสารณียกรรม คือ การให้ระลึกความผิด (วิ.ม. 5/414/208)
อุกเขปนียกรรม คือ การกันออกจากหมู่, การยกออกจากหมู่ (วิ.ม. 5/415/208)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :86 }