เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 13. พิมพิสารสมาคมกถา
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้
ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริบูรณ์บริสุทธิ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงแวดล้อมด้วยพราหมณ์คหบดี
ชาวมคธ 12 นหุต1 เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ฝ่ายพราหมณ์คหบดีชาวมคธ 12 นหุตเหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มี
พระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันและกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็ประคองอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็ประกาศนามและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็นั่งนิ่ง ณ ที่สมควร
ขณะนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธ 12 นหุตเหล่านั้นได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “พระมหาสมณะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระอุรุเวลกัสสปะ หรือพระ
อุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะหนอ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของพราหมณ์คหบดี
ชาวมคธ 12 นหุตเหล่านั้นด้วยพระทัย จึงตรัสเชื้อเชิญท่านพระอุรุเวลกัสสปะ
ด้วยคาถาว่า
“ท่านอยู่อุรุเวลามานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฎิลผู้ผอม2
ท่านเห็นอุบายอะไร จึงได้ละไฟเสีย

เชิงอรรถ :
1 นหุต เป็นมาตรานับ 1 นหุต เท่ากับ 10,000 คน 12 นหุต เท่ากับ 120,000 คน
2 หมายถึงเป็นผู้อบรมสั่งสอนหมู่ดาบสที่ได้นามว่า “ผู้ผอม” เนื่องจากเป็นผู้ที่ร่างกายผอม เพราะบำเพ็ญ
ตนเป็นดาบส (วิ.อ. 3/55/27)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :66 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 13. พิมพิสารสมาคมกถา
กัสสปะ เราถามข้อความนี้กะท่าน
ไฉนท่านจึงละการบูชาไฟของท่านเสียเล่า”
พระอุรุเวลกัสสปะทูลตอบว่า
“ยัญทั้งหลายกล่าวสรรเสริญกามทั้งหลาย
คือ รูป เสียง รสและสตรีทั้งหลาย
ข้าพระองค์ได้รู้ในอุปธิ1ว่า นั่นเป็นมลทิน
เพราะฉะนั้น จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวง มิได้ยินดีในการบูชา”
“กัสสปะ ใจของท่านไม่ยินดีในรูป เสียงและรสเหล่านั้นแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจของท่านยินดีในสิ่งไรเล่า
ในเทวโลกหรือมนุษยโลก กัสสปะ ท่านจงบอกสิ่งนั้นแก่เรา”
“ข้าพระองค์ได้เห็นบทอันสงบ2 ไม่มีอุปธิ ไม่มีกังวล
ไม่ข้องอยู่ในกามภพ มีอันไม่แปรเป็นอย่างอื่น
ไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นจะพึงแนะให้ได้
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวงมิได้ยินดีใน
การบูชา”
[56] ลำดับนั้น ท่านพระอุรุเวลกัสสปะลุกขึ้นจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง ซบศีรษะแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ขณะนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง 12 นหุตเหล่านั้นก็ทราบว่า “พระ
อุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของพราหมณ์คหบดีชาว
มคธ 12 นหุตเหล่านั้นด้วยพระทัย จึงได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ

เชิงอรรถ :
1 อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธุปธิ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์อันมีขันธ์เป็นมูล (สารตฺถ.ฎีกา 3/55/260)
2 บทอันสงบ ในที่นี้หมายถึงบทคือพระนิพพานที่มีสภาพสงบ ที่ชื่อว่า ไม่แปรเป็นอย่างอื่น เพราะไม่มีชาติ
ชรา และมรณะ (วิ.อ.3/55/27)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :67 }