เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 9. ปัพพัชชูปสัมปทากถา
9. ปัพพัชชูปสัมปทากถา
ว่าด้วยการบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์

เรื่องทรงอนุญาตภิกษุบรรพชาอุปสมบทให้กุลบุตร
[34] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท
มาจากทิศต่าง ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า “พระผู้มีพระภาคจักทรงให้พวกเขา
บรรพชาอุปสมบท” ในการที่ภิกษุทั้งหลายนำกุลบุตรมา ทั้งภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่า
กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความรำพึงขึ้น
ในพระทัยอย่างนี้ว่า “บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่ง
อุปสมบทมาจากทิศนั้น ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคจักทรง
ให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท ในการที่ภิกษุทั้งหลายนำกุลบุตรมานั้น ทั้งพวกภิกษุ
ทั้งเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราพึง
อนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายนั่นแหละ จงให้บรรพชา
จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด”
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น ทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอยู่ในที่สงัด
หลีกเร้นอยู่ที่นี้ ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจว่า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพาเหล่า
กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบทมาจากทิศต่าง ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจ
ว่า พระผู้มีพระภาคจักทรงให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท ในการที่ภิกษุทั้งหลาย นำ
กุลบุตรมานั้น ทั้งภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบทย่อม
ลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราควรอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
ท่านทั้งหลายนั่นแหละ จงให้บรรพชา จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด
ภิกษุทั้งหลาย พึงให้บรรพชาพึงให้อุปสมบทอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :42 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 9.ปัพพัชชูปสัมปทากถา
ในเบื้องต้น พึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ปลงผมและหนวด
ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย
ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนมมือแล้วสั่งว่า ‘เธอจงกล่าวอย่างนี้’ แล้วให้ว่าสรณคมน์ดังนี้

ไตรสรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ1

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ 2
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ 2
ทุติยมฺปิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ 2
ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ 3
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ 3
ตติยมฺปิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ 3

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์เหล่านี้”
ปัพพัชชูปสัมปทากถา จบ

เชิงอรรถ :
1 สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ภัยและกิเลส การถือพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะก็
เพื่อเป็นเครื่องช่วยทำลายขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยและกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ. 6-7)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :43 }