เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [4. ปวารณาขันธกะ] 124. สังฆปวารณาทิปเภท
124. สังฆปวารณาทิปเภท
ว่าด้วยประเภทปวารณามีปวารณาเป็นการสงฆ์เป็นต้น

เรื่องภิกษุ 5 รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์
[215] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน 5
รูป ภิกษุเหล่านั้นมีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า สงฆ์
พึงปวารณา ก็พวกเรามี 5 รูป จะพึงปวารณาอย่างไรหนอ” จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ 5 รูป ปวารณา
เป็นการสงฆ์”

เรื่องภิกษุ 4 รูปปวารณาเป็นการคณะ
[216] สมัยนั้น ในอาวาสแห่งหนึ่ง ในวันปวารณานั้น มีภิกษุอยู่ด้วยกัน
4 รูป ภิกษุเหล่านั้นได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ
5 รูป ปวารณาเป็นการสงฆ์ ก็พวกเรามีเพียง 4 รูป จะพึงปวารณาอย่างไรหนอ”
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ 4 รูป ปวารณา
ต่อกัน”

วิธีทำปวารณาเป็นการคณะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุ 4 รูปนั้นพึงปวารณาอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบว่า
ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันปวารณา ถ้าท่านทั้งหลายพร้อม
กันแล้ว เราทั้งหลายพึงปวารณาต่อกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :342 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [4. ปวารณาขันธกะ] 124. สังฆปวารณาทิปเภท
ภิกษุผู้เถระพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าว
คำปวารณาต่อภิกษุ(ผู้นวกะ)เหล่านั้นอย่างนี้ว่า

คำปวารณาสำหรับภิกษุมีพรรษแก่กว่า
ท่านทั้งหลาย ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี
ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนผม เมื่อผมทราบ
จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่ 2 ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
ผม เมื่อผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านทั้งหลาย แม้ครั้งที่ 3 ผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
ผม เมื่อผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป

คำปวารณาสำหรับภิกษุพรรษาอ่อนกว่า
ภิกษุผู้นวกะพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าวคำปวารณาต่อภิกษุ(ผู้เถระ)เหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย ด้วยได้เห็นก็ดี
ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้ครั้งที่ 2 กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย
ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์
ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย แม้ครั้งที่ 3 กระผมขอปวารณาต่อท่านทั้งหลาย
ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์
ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อกระผมทราบ จักได้แก้ไขต่อไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :343 }