เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
1. ทานกถา 2. สีลกถา
3. สัคคกถา 4. กามาทีนวกถา
5. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เศรษฐีคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงทราบว่า เศรษฐีคหบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่เศรษฐี
ผู้คหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง
มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำ
ย้อมได้เป็นอย่างดี
เศรษฐีคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอ
ถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เศรษฐีคหบดีนี้แล ได้เป็นเตวาจิกอุบาสก(ผู้กล่าวถึงรัตนะทั้ง 3 ว่าเป็นสรณะ)
เป็นคนแรก ในโลก

ยสกุลบุตรสำเร็จพระอรหัตตผล
[28] ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรอยู่ จิต
ของยสกุลบุตรผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :34 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “เมื่อเราแสดงธรรมแก่บิดาของ
ยสกุลบุตรอยู่ จิตของยสกุลบุตร ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุด
พ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์
บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน ถ้ากระไร เราพึงคลายอิทธาภิสังขาร”
ทรงคลายอิทธาภิสังขารแล้ว
เศรษฐีคหบดีได้เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ ครั้นเห็นแล้วจึงกล่าวกับยสกุลบุตรว่า
“พ่อยสะ มารดาของเจ้าโศกเศร้าคร่ำครวญถึง เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด”
ยสกุลบุตรได้เงยหน้าดูพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเศรษฐีคหบดี
ดังนี้ว่า “คหบดี ท่านจะเข้าใจข้อนั้นอย่างไร ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ1 ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณาภูมิธรรมตาม
ที่ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี
ยสกุลบุตรควรหรือที่จะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกามเหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน”
เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า “คหบดี ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเขาพิจารณาภูมิธรรมตามที่
ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี
ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน”
เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ การที่จิตของยสกุลบุตรหลุดพ้น
จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เป็นลาภของยสกุลบุตร ยสกุลบุตรได้ดีแล้ว
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมียสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะโปรดทรงรับภัตตาหาร
ของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันนี้เถิด”

เชิงอรรถ :
1 ญาณอันเป็นเสขะ หมายถึงญาณของบุคคลระดับพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี (ดู องฺ.ทุก.
(แปล) 20/36/79 องฺ.ทุก.อ. 2/36/34)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :35 }