เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [4. ปวารณาขันธกะ] 120. อผาสุวิหาร
ท่านผู้เจริญ แม้ครั้งที่ 2 กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วย
ได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป
ท่านผู้เจริญ แม้ครั้งที่ 3 กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วย
ได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือน
กระผม เมื่อกระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป

เรื่องพระฉัพพัคคีย์นั่งราบบนอาสนะปวารณา
ทรงอนุญาตให้นั่งกระโหย่งปวารณา
[211] สมัยนั้น เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณา พวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์อยู่บนอาสนะ บรรดาพวกภิกษุผู้มีความมักน้อย ฯลฯ พาตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนเมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณา พวกภิกษุ ฉัพพัคคีย์
จึงอยู่บนอาสนะเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า เมื่อภิกษุ
ผู้เถระทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณา ภิกษุฉัพพัคคีย์อยู่บนอาสนะ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนเมื่อภิกษุผู้เถระ
ทั้งหลายนั่งกระโหย่งปวารณา โมฆบุรุษพวกนั้นจึงอยู่บนอาสนะเล่า การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบรรดาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย
นั่งกระโหย่งปวารณา ไม่พึงอยู่บนอาสนะ รูปใดอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุทุกรูปนั่งกระโหย่งปวารณา”
สมัยต่อมา พระเถระรูปหนึ่งชราทุพพลภาพ นั่งกระโหย่งรอจนกว่าภิกษุทุกรูป
จะปวารณาเสร็จ ได้เป็นลมล้มลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งกระโหย่งชั่วเวลา
ปวารณา และอนุญาตให้ภิกษุปวารณาเสร็จแล้วนั่งบนอาสนะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :336 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [4. ปวารณาขันธกะ] 121. ปวารณาเภท
121. ปวารณาเภท
ว่าด้วยประเภทแห่งวันปวารณา

เรื่องวันปวารณามี 2 วัน
[212] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “วันปวารณามีเท่าไร
หนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันปวารณานี้มี 2 วัน คือ วัน 14
ค่ำ และวัน 15 ค่ำ ภิกษุทั้งหลาย วันปวารณามี 2 วันเหล่านี้แล”

เรื่องอาการที่ทำปวารณามี 4 อย่าง
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “การทำปวารณามีเท่าไร
หนอ” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การทำปวารณามี 4 อย่างเหล่านี้1 คือ
1. การทำปวารณาแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
2. การทำปวารณาพร้อมเพรียงโดยไม่ชอบธรรม

เชิงอรรถ :
1 การทำปวารณาแต่ละอย่างมีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้
1. ถ้าในวัดหนึ่ง มีภิกษุอยู่ 5 รูป ภิกษุ 4 รูปนำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งคณญัตติแล้วปวารณา
หรือมีภิกษุอยู่ 4 รูป ภิกษุ 3 รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา
หรือมีภิกษุ 3 รูป ภิกษุ 2 รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมาตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา นี้ชื่อ
ว่าการทำปวารณาแบ่งพวกโดยไม่ชอบธรรม
2. ถ้าภิกษุทั้งหมด 5 รูป ประชุมร่วมกัน ตั้งคณญัตติแล้วปวารณา ภิกษุ 4 รูป 3 รูป หรือ
2 รูป อยู่ประชุมร่วมกันตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา นี้ชื่อว่าการทำปวารณาพร้อมเพรียงโดยไม่ชอบธรรม
3. ถ้ามีภิกษุ 5 รูป ภิกษุ 4 รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมาตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา
หรือมีภิกษุอยู่ 4 รูป ภิกษุ 3 รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งคณบัญญัติแล้วปวารณา
หรือมีภิกษุอยู่ 3 รูป ภิกษุ 2 รูป นำปวารณาของรูปหนึ่งมา ตั้งคณบัญญัติแล้วปวารณา
นี้ชื่อว่าการทำปวารณาแบ่งพวกโดยชอบธรรม
4. ถ้าภิกษุทั้งหมด 5 รูป ประชุมร่วมกัน ตั้งสังฆญัตติแล้วปวารณา ภิกษุ 4 รูป หรือ 3 รูป
ประชุมร่วมกันตั้งคณญัตติแล้วปวารณา หรือภิกษุ 2 รูป ปวารณาต่อกัน ภิกษุ 1 รูป ทำอธิษฐาน
ปวารณา นี้ชื่อว่า การทำปวารณาพร้อมเพรียงโดยชอบธรรม (วิ.อ. 3/212/155)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :337 }