เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
เมื่อทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา1ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ยสกุลบุตร ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

บิดาตามหายสกุลบุตร
[27] ครั้นรุ่งเช้า มารดาขึ้นไปบนปราสาทไม่พบยสกุลบุตร จึงเข้าไปหาเศรษฐี
คหบดีถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับเศรษฐีคหบดี ดังนี้ว่า “ท่านคหบดีเจ้าข้า
ยสะบุตรของท่านหายไปไหน”
ฝ่ายเศรษฐีคหบดีส่งทูตขี่ม้าไปตามหาทั้ง 4 ทิศแล้ว ส่วนตนเองไปยังป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าทองวางอยู่ จึงตามไปยังที่นั้น พระผู้มีพระภาค
ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีคหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงมีพระดำริ
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงบันดาลอิทธาภิสังขาร(การบันดาลทางฤทธิ์) ให้เศรษฐีคหบดี
ผู้นั่งที่นี่ไม่เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นั่น” จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้น
ลำดับนั้น เศรษฐีคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงพบยส
กุลบุตรบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี เชิญท่านนั่งลงก่อนเถิด บางทีท่านนั่งที่นี่แล้ว
จะพึงพบยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นี่ก็ได้”
เศรษฐีคหบดีร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า เรานั่งที่นี่จักพบยสกุลบุตรผู้นั่ง
อยู่ที่นี่” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
1 สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ทรงเห็นด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับคำแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เอง
ก่อนใครในโลก (วิ.อ. 3/293/181, สารตฺถ.ฏีกา 3/26/237, ที.สี.ฏีกา อภินว. 2/298/350)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :33 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [1.มหาขันธกะ] 7.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
1. ทานกถา 2. สีลกถา
3. สัคคกถา 4. กามาทีนวกถา
5. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เศรษฐีคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงทราบว่า เศรษฐีคหบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่เศรษฐี
ผู้คหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง
มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำ
ย้อมได้เป็นอย่างดี
เศรษฐีคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอ
ถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เศรษฐีคหบดีนี้แล ได้เป็นเตวาจิกอุบาสก(ผู้กล่าวถึงรัตนะทั้ง 3 ว่าเป็นสรณะ)
เป็นคนแรก ในโลก

ยสกุลบุตรสำเร็จพระอรหัตตผล
[28] ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรอยู่ จิต
ของยสกุลบุตรผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 4 หน้า :34 }